แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 นัดแรก จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานมาศาล ศาลอนุญาตให้เลื่อนการนั่งพิจารณาโดยกำชับว่าจะไม่อนุญาตให้เลื่อนการนั่งพิจารณาอีกและให้จำเลยที่ 1นำพยานมาสืบให้เสร็จในนัดต่อไป ครั้นถึงวันนัดจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานด้วยตนเอง และขอส่งประเด็นไปสืบพยานจำเลยที่ 1 ยังศาลอื่นอีก 2 ศาลในประเด็นที่จำเลยที่ 1ได้เบิกความไปแล้ว เช่นนี้ เป็นพฤติการณ์ประวิงคดี ชอบที่ศาลจะไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานและให้ตัดพยานที่จำเลยที่ 1 ประสงค์จะสืบต่อไป.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 1,271,998.55 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีของต้นเงิน 600,000 บาท และอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน515,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จในหนี้ 1,271,998.55 บาท ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 645,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินให้โจทก์ 532,430 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 515,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้สลักหลังเช็คที่จำเลยที่2 สั่งจ่าย สัญญาขายลดเช็คเป็นเอกสารปลอม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,271,988.55 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 515,000 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (6 สิงหาคม 2528)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในเงินจำนวน 645,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาทและให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในเงินจำนวน 532,430 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 515,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งตัดพยานของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานจำเลยที่ 1 ตามที่ขอให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อไปตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ เสร็จแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 นัดแรกไว้ให้จำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าถึงเกือบ 2 เดือน ครั้นถึงวันนัดไม่มีพยานจำเลยที่ 1 มาศาลเลย ทนายจำเลยที่ 1 แถลงว่า จะสืบพยานประมาณ 4 ปาก คือจำเลยที่ 1นายปราโมทย์ ยิ่งเจริญ นายสม บุตรทิพย์ และนายกิตติ เกียรติกนกกุลโดยทนายจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างว่าจะต้องส่งประเด็นไปสืบนายปราโมทย์ ยิ่งเจริญ ที่ศาลอื่น ทั้งมิได้กล่าวถึงนายพรเลิศอินสว่าง แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นจึงให้โอกาสจำเลยที่ 1 อีกครั้งหนึ่งโดยให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยที่ 1 ในนัดหน้า ซึ่งจำเลยที่ 1มีเวลาเตรียมพยานถึง 1 เดือนเศษโดยศาลชั้นต้นกำชับไว้ว่าจะไม่ให้เลื่อนอีกไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะให้จำเลยที่ 1 สืบพยานเท่าที่สามารถนำมาศาลได้ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ก็สืบพยานไปได้เพียงปากเดียว คือตัวจำเลยที่ 1 เอง การที่จำเลยที่ 1แถลงว่ายังติดใจสืบพยานอีก 2 ปาก คือ นายปราโมทย์ ยิ่งเจริญและนายพรเลิศ อินสว่าง ซึ่งจะต้องส่งประเด็นไปสืบที่ศาลอื่นทั้งสองปากในข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 ลงชื่อในเอกสารสัญญาขายลดเช็คหมาย จ.7 โดยไม่มีการกรอกข้อความ ทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ก็ได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเช่นนี้ตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยที่ 1 ไปอีก และให้ตัดพยานที่จำเลยที่ 1 ประสงค์จะสืบต่อไปเสียนั้นชอบแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น