แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาและเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์จำหน่ายแพร่หลายแก่บุคคลทั่วไปในเขตจังหวัด อุบลราชธานีและเป็นเจ้าของนามปากกาว่า “ขุนช้าง” จำเลยได้ลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด อุบลราชธานี มีข้อความว่า “ขอบใจที่ พล.อ. สิทธิ จิรโรจน์ ร.ม.ต.มหาดไทยกล่าวว่าทำไมผู้กำกับจึงมาร้องตอนนี้ ทั้ง ๆ ที่เรื่องมีมานานขุนช้างว่าคงพึ่งคิดวิธีทำอาญาให้เป็นแพ่งได้กระมังจริงไหมครับพ.ต.อ. นิยม ไกรลาศ ” อันเป็นข้อความที่เกี่ยวโยงกับกรณีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่การเงินกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด อุบลราชธานีซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการจำนวนหลายล้านบาท ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความที่จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเข้าใจว่าโจทก์ร่วมรู้เห็นในการทุจริตยักยอกเงินของทางราชการ ข้อความที่จำเลยลงโฆษณานอกจากจำเลยอ้างถึงข้อความที่พลเอก สิทธิ จิรโรจน์ กล่าวดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ได้อ้างถึงข้อความจริงอันใดให้จำเลยแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งผู้ได้อ่านก็ไม่ได้รู้ถึงความจริงอันควรเชื่อหรือไม่ว่าเป็นดังจำเลยกล่าว แต่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าโจทก์ร่วมรู้เห็นในการทุจริต จึงไม่ใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำทั้งไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ข้อความที่จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจึงเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และเมื่อเป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว ก็ไม่ต้องยกมาตรา 326 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา พันตำรวจเอกนิยม ไกรลาศ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยให้คุมประพฤติจำเลยไว้ 6 เดือน และให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติประจำศาลจังหวัดอุบลราชธานีทุก 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุพันตำรวจเอกนิยม ไกรลาศ โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาและเจ้าของหนังสือพิมพ์อุบลรัตน์พิมพ์จำหน่ายแพร่หลายแก่บุคคลทั่วไปในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นเจ้าของนามปากกาว่า”ขุนช้าง” เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2529 หนังสือพิมพ์อุบลรัตน์ฉบับที่ 54 ลงวันที่ 16-31 มกราคม 2529 ลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ร่วมว่า”ชอบใจที่ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ ร.ม.ต.มหาดไทย กล่าวว่า ทำไมผู้กำกับจึงมาร้องตอนนี้ทั้ง ๆ ที่เรื่องมีมานาน ขุนช้างว่า คงพึ่งคิดวิธีทำอาญาให้เป็นแพ่งได้กระมัง จริงไหมครับ พ.ต.อ.นิยมไกรลาศ” ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ข้อความที่จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์อุบลรัตน์ดังกล่าวเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่ และเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือไม่ ตามที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีนี้ได้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ เห็นว่าข้อความที่จำเลยลงโฆษณาดังกล่าวเกี่ยวโยงกับกรณีกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่การเงินกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการเป็นจำนวนหลายล้านบาท ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้อ่านข้อความที่จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเข้าใจว่าโจทก์ร่วมรู้เห็นในการทุจริตยักยอกเงินของทางราชการ ข้อความที่จำเลยลงโฆษณานอกจากจำเลยอ้างถึงข้อความที่พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ กล่าวดังกล่าวแล้วจำเลยมิได้อ้างถึงข้อความจริงอันใดให้จำเลยแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ทั้งผู้ได้อ่านก็มิได้รู้ถึงความจริงอันควรเชื่อหรือไม่ว่าเป็นดังจำเลยกล่าว แต่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าโจทก์ร่วมรู้เห็นในการทุจริต จึงมิใช่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ทั้งไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ข้อความที่จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจึงเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยนำไปลงพิมพ์แม้จะตั้งเป็นคำถามก็ดีจำเลยควรสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลย การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ร่วม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มาด้วยนั้น เห็นว่ายังไม่ถูกต้องเพราะในความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อจำเลยผิดตามมาตรา 328 แล้วก็ไม่จำต้องยกมาตรา 326 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.