คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารมีข้อความว่า “ยอดเงินขายฝากที่ดิน 300,000 บาท ยอดเงินกู้ 292,700 บาท รวม 2 รายการ 592,700 บาท จ่ายเงินสดก่อน 200,000 บาท คงเป็นหนี้อยู่อีก 392,700 บาท” ไม่มีข้อความที่เป็นข้อตกลงว่าจำเลยได้ให้คำมั่นจะขาย ที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ เมื่อคำมั่นว่าจะขายอสังหาริมทรัพย์มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงจึงห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อได้นำเอกสารมาแสดงว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) และข้อความตามเอกสารในสำนวนคดีแพ่งดังกล่าว ไม่มีลักษณะเป็นคำมั่นว่าจะขายที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่ามีการตกลงให้คำมั่นจะขายที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินจำนวน 392,700 บาท จากโจทก์และให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 3128, 58442 และ 58443 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น คืนให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระหนี้สินติดพัน หากจำเลยไม่ไปขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและขอให้จำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวต่อธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาขอนแก่น ในวงเงิน 800,000 บาท ก่อนที่จะจดทะเบียนโอนคืนให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ขายฝากที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 3128 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ไว้แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ได้ไถ่หรือใช้สิทธิไถ่ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาขายฝาก และเมื่อสิ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว จำเลยไม่เคยรับว่าจะโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ จำเลยไม่เคยตกลงหรือให้คำมั่นใด ๆ แก่โจทก์ว่า จำเลยจะโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยรับซื้อฝากไว้คืนให้แก่โจทก์ บันทึกข้อความตามที่โจทก์อ้างเป็นบันทึกที่โจทก์ขอร้องให้จำเลยทำขึ้นโดยอ้างว่าจะนำไปให้พี่น้องของโจทก์ดูว่าโจทก์ยังมีหนี้สินติดค้างชำระต่อจำเลยอยู่ เนื่องจากโจทก์ยืมเงินญาติพี่น้องไป 200,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามเช็คให้แก่จำเลย โดยขอให้ระบุว่ามียอดหนี้ขายฝากที่ดิน 300,000 บาท และยอดหนี้เงินกู้ 292,000 บาท ความจริงโจทก์ไม่มียอดหนี้ตามสัญญาขายฝากค้างชำระแก่จำเลย และบันทึกดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเป็นคำมั่นของจำเลยที่จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ นอกจากนี้จำเลยไม่เคยบอกว่าหากโจทก์ชำระเงินจำนวน 392,700 บาท ให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ในเดือนกันยายน 2532 โจทก์ไม่เคยติดต่อขอชำระเงินจำนวน 392,700 บาท ให้แก่จำเลยแล้วให้จำเลยไปโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ บันทึกดังกล่าวโจทก์เคยอ้างประกอบคำฟ้องที่โจทก์ฟ้อง ขอให้จำเลยรับไถ่ที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1364/2532 หมายเลขแดงที่ 1405/2533 ของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นที่ดินแปลงพิพาทแปลงเดียวกันกับคดีนี้ และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 1364/2532 หมายเลขแดงที่ 1405/2533 หรือไม่ ศาลสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วฟังว่าเป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้องให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้จำเลยรับเงิน 392,700 บาท จากโจทก์และให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 3128, 58442 และ 58443 เลขที่ดิน 31, 156 และ 157 ตามลำดับ ตำบลในเมือง (พระลับ) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ให้แก่โจทก์ โดยให้ที่ดินดังกล่าวปราศจากภาระหนี้สินติดพัน หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งหมดให้เป็นพับ
ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยถึงแก่ความตาย นายประทีปทายาทของผู้มรณะได้ขอเข้ามาเป็น คู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2526 โจทก์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลยเป็นเงิน 200,000 บาท กำหนดไถ่ภายใน 2 ปี แต่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิไถ่การขายฝากภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาไถ่ จำเลยได้ทำเอกสารมอบให้โจทก์มีข้อความว่า “ยอดเงินขายฝากที่ดิน 300,000 บาท ยอดเงินกู้ 292,700 บาท รวมสองรายการ 592,700 บาท จ่ายเงินสดก่อน 200,000 บาท คงเป็นหนี้อยู่อีก 392,700 บาท (สามแสนเก้าหมื่นสองพันเจ็ดร้อยถ้วน) ลงชื่อจำเลยและวันที่” ตามเอกสารหมาย จ. 4 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1405/2533 ของศาลชั้นต้น มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ตามเอกสารดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่จำเลยได้ให้คำมั่นว่า จะขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์เบิกความว่า หลังจากครบกำหนดไถ่แล้ว โจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 2 แก่จำเลยเรื่อยมา แต่กี่บาทจำไม่ได้ หลังจากครบกำหนดไถ่แล้ว โจทก์เคยพูดขอไถ่ที่ดินจากจำเลย จำเลยรับปากว่าจะให้ไถ่โดยบอกให้โจทก์ชำระหนี้ทั้งหมดแล้วจะโอนที่ดินคืนให้ โจทก์ตอบตกลง ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2530 โจทก์อยากทราบยอดหนี้ที่ต้องชำระแก่จำเลย จึงได้มีการคิดบัญชีกัน ปรากฏว่าจำเลยคิดค่าที่ดินรวมดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน 300,000 บาท และค่าหนี้เงินกู้รายอื่น ๆ พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 292,700 บาท รายละเอียดปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ. 4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2533 ของศาลชั้นต้น ในวันดังกล่าวโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 200,000 บาทให้แก่จำเลย โดยชำระเป็นเงินสด และจำเลยบอกด้วยว่าส่วนหนี้ที่ค้างอีกจำนวน 392,700 บาท เมื่อชำระครบเมื่อไหร่จะโอนที่ดินคืนให้ จำเลยเบิกความว่า เอกสารหมาย จ. 4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2533 เป็นเอกสารที่โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยเขียนขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้โจทก์ได้นำเงินจำนวน 200,000 บาท มาชำระหนี้ให้แก่จำเลยตามที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ตามเช็คสองฉบับ โดยโจทก์อ้างว่าตนยืมเงิน 200,000 บาท มาจากญาติพี่น้องขอให้จำเลยเขียนเอกสารขึ้นเพื่อจะทำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อญาติว่าได้นำเงินมาชำระให้แก่จำเลยจริง ๆ เห็นว่า โจทก์นำสืบถึงเหตุที่จำเลยทำเอกสารหมาย จ. 4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2533 ของศาลชั้นต้นมอบให้แก่โจทก์ก็เนื่องจากมีการคิดบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่จำเลยนำสืบปฏิเสธว่า จำเลยทำเอกสารดังกล่าวมอบให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์นำไปแสดงต่อญาติว่า ได้นำเงินจำนวน 200,000 บาท มาชำระหนี้ตามเช็คให้แก่จำเลยแล้วเท่านั้น จึงเป็นการนำสืบปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งหมดและข้อความตามเอกสารหมาย จ. 4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2533 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์อ้าง ซึ่งมีข้อความแต่เพียงว่า “ยอดเงินขายฝากที่ดิน 300,000 บาท ยอดเงินกู้ 292,700 บาท รวม 2 รายการ 592,700 บาท จ่ายเงินสดก่อน 200,000 บาท คงเป็นหนี้อยู่อีก 392,700 บาท (สามแสนเก้าหมื่นสองพันเจ็ดร้อยถ้วน)” เอกสารดังกล่าวจึงไม่มีข้อความที่เป็นข้อตกลงว่า จำเลยได้ให้คำมั่นจะขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ เมื่อคำมั่นว่าจะขายอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการวางประจำไว้ ส่วนในประเด็นเรื่องได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจำเลยก็นำสืบปฏิเสธมาโดยตลอดทั้งในประเด็นนี้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ฝ่ายโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่จำเลย เมื่อคำมั่นว่าจะขายอสังหาริมทรัพย์มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จึงห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) และข้อความตามเอกสารหมาย จ. 4 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1405/2533 ของศาลชั้นต้น ไม่มีลักษณะเป็นคำมั่นว่าจะขายที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่ามีการตกลงให้คำมั่นจะขายที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นพับ.

Share