คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3846/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมิได้ถืออาวุธปืนจ้องมาทางผู้เสียหาย ก่อนหยิบเสื้อของ ว. ไป จำเลยพูดว่าเอาเสื้อไปนะ ขณะหยิบเสื้อของ ว. ซึ่งแขวนอยู่ที่ไม้แขวนเสื้อและเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สาย จำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในมือข้างเดียวกับที่ถือไม้แขวนเสื้อแสดงว่าจำเลยมิได้หยิบเสื้อของ ว. ไปโดยพลการ จำเลยถือไม้แขวนเสื้อในมือที่ถืออาวุธปืนมีลักษณะไม่อยู่ในสภาพที่จะทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวได้ ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายไม่กล้าขัดขวางจำเลยเพราะเหตุที่จำเลยถืออาวุธปืน จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายและว. ไปจึงมิใช่เกิดจากการที่จำเลยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
จำเลยเอาทรัพย์ไปก็เพื่อให้ ว. เอาฝาถังน้ำมันรถยนต์ของจำเลยไปแลกทรัพย์คืนมา จำเลยมีฐานะดี การที่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายและ ว. ไป เพื่อต้องการให้ ว. เอาฝาถังน้ำมันรถยนต์ของจำเลยไปแลกทรัพย์คืนมา จึงไม่มีเจตนาทุจริต การกระทำ ของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 364, 365(2), 371, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง ริบอาวุธปืนของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เสื้อ 3 ตัว ราคา 2,700 บาท และมีด 1 เล่ม ราคา 25 บาท แก่ผู้มีชื่อและผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1579/2541 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การรับสารภาพฐานพาอาวุธปืน ให้การปฏิเสธฐานบุกรุกและชิงทรัพย์แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี มาตรา 365(2) (ที่ถูกมาตรา 365(2) ประกอบด้วยมาตรา 364) มาตรา 371 ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 3 เดือน ฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธ และฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 15 ปี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 15 ปี 3 เดือน คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี2 เดือน ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1579/2541ของศาลชั้นต้น ริบอาวุธปืนของกลาง ให้จำเลยคืนเสื้อ 3 ตัว หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 2,700 บาท แก่ผู้มีชื่อ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน เมื่อรวมโทษฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนแล้ว คงจำคุกทั้งสิ้น 10 ปี 1 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2540 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยได้พาอาวุธปืนออโตเมติกขนาด .32 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากนายทะเบียนบุกรุกเข้าไปในห้องชั้นที่ 3 ของอาคารห้องเช่าโต๊ะสุวรรณ ซึ่งเป็นเคหสถานของนางสาวสายใย วาทนเสรี ผู้เสียหายแล้วเอาเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สายตัวลูก 1 เครื่อง กับมีด 1 เล่ม ของผู้เสียหายและเสื้อ 3 ตัว ของนายวันชัย แซ่โง้ว ซึ่งเป็นสามีของผู้เสียหายไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 เวลาประมาณ14 นาฬิกา จำเลยถืออาวุธปืนเข้ามาในห้องของผู้เสียหาย จำเลยเดินไปมาแล้วบอกให้ผู้เสียหายหยิบภาพถ่ายของนายวันชัยให้ ผู้เสียหายตอบว่าไม่มี จำเลยได้ด่าเป็นภาษาจีนซึ่งผู้เสียหายไม่ทราบความหมาย จำเลยพูดว่าจะเผาห้องของผู้เสียหายและบอกว่าเมื่อไม่ได้ภาพถ่ายก็จะเอาเสื้อไป จำเลยเดินไปหยิบเสื้อของนายวันชัยที่แขวนอยู่ 3 ตัว และหยิบเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สายของผู้เสียหายซึ่งเป็นตัวลูกไป ผู้เสียหายไม่กล้าขัดขวางเพราะจำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในมือ วันรุ่งขึ้นเวลา 14 นาฬิกา จำเลยมาเคาะประตูห้องของผู้เสียหาย ผู้เสียหายเปิดประตูให้จำเลยถือมีดปลายแหลมเข้ามาในห้องและถามหานายวันชัย ผู้เสียหายบอกว่าไม่อยู่ จำเลยเดินไปมาสักครู่ก็เดินเข้าไปในครัวหยิบมีดปอกผลไม้แล้วเดินออกไปจากห้องผู้เสียหายก็ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าว แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายแต่อย่างใด ซึ่งตรงกับที่ผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า จำเลยมิได้ถืออาวุธปืนจ้องมาทางผู้เสียหาย จึงต้องพิจารณาว่าเหตุที่จำเลยถืออาวุธปืนไปนั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่กล้าขัดขวางมิให้จำเลยเอาทรัพย์ไปหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนจำเลยหยิบเสื้อของนายวันชัยไป จำเลยพูดว่าเอาเสื้อไปนะ ขณะจำเลยหยิบเสื้อของนายวันชัยซึ่งแขวนอยู่ที่ไม้แขวนเสื้อและเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สาย จำเลยถืออาวุธปืนอยู่ในมือข้างเดียวกับที่ถือไม้แขวนเสื้อ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าว แสดงว่าจำเลยมิได้หยิบเสื้อของนายวันชัยไปโดยพลการ และการที่จำเลยถือไม้แขวนเสื้อในมือที่ถืออาวุธปืนมีลักษณะไม่อยู่ในสภาพที่จะทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวได้ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายไม่กล้าขัดขวางจำเลยเพราะเหตุที่จำเลยถืออาวุธปืนดังที่ผู้เสียหายเบิกความ เหตุที่จำเลยถืออาวุธปืนเข้าไปในห้องของผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาของนายวันชัยคงเป็นเพราะจำเลยต้องการเอาเรื่องกับนายวันชัย ซึ่งทำร้ายร่างกาย จำเลยดังที่ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยพูดว่าจะฆ่านายวันชัยและเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายทราบว่านายวันชัยตีจำเลยแล้วนายวันชัยหลบหนีไปต่างจังหวัดระยะหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายและนายวันชัยไปจึงมิใช่เกิดจากการที่จำเลยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าการที่จำเลยเอาทรัพย์ไปนั้น จำเลยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความว่าเมื่อจำเลยเดินออกไปจากห้องผู้เสียหายไม่ได้ไปร้องทุกข์แสดงว่าที่จำเลยเอาทรัพย์ไปนั้นผู้เสียหายไม่ติดใจเอาเรื่องแก่จำเลย ส่วนที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 หลังจากจำเลยเอามีดไปแล้ว ผู้เสียหายได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ แสดงว่าผู้เสียหายไปร้องทุกข์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะไปร้องทุกข์ในวันนั้น เพราะร้อยตำรวจเอกวรพจน์ ดิษยบุตร ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนและเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนขู่บังคับผู้เสียหาย จำเลยเข้าไปในห้องของผู้เสียหายในวันที่19 พฤษภาคม 2540 เพียงครั้งเดียว การที่ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกวรพจน์ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนขู่บังคับผู้เสียหาย จึงเป็นคำให้การที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายเบิกความดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ผู้เสียหายยังได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนไปร้องทุกข์ได้ปรึกษากับเพื่อนบ้านและนายวันชัยแสดงว่าที่ผู้เสียหายเอาเรื่องแก่จำเลยเป็นเพราะมีการปรึกษากับนายวันชัยก่อนคำเบิกความของผู้เสียหายส่วนที่เป็นโทษแก่จำเลยจึงไม่มีน้ำหนัก จำเลยเองก็เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ 3 ถึง 4 วัน จำเลยได้ทวงหนี้ที่นายวันชัยเป็นหนี้จำเลยอยู่ 40,000 ถึง 50,000 บาท นายวันชัยไม่พอใจก็ชกจนจำเลยสลบไป จำเลยจึงไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชยเขต 2 ในวันเกิดเหตุได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับนายวันชัย เมื่อทราบว่านายวันชัยไม่อยู่ จึงให้เจ้าพนักงานตำรวจกลับไป แล้วจำเลยได้เข้าไปในห้องของผู้เสียหายเพื่อขอภาพถ่ายของนายวันชัยไปให้เจ้าพนักงานตำรวจแต่ผู้เสียหายไม่ให้เพราะเป็นภาพถ่ายในวันแต่งงาน จำเลยจึงขอเสื้อ 3 ตัว และเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สายตัวลูก โดยจำเลยบอกผู้เสียหายว่าให้นายวันชัยนำฝาถังน้ำมันรถยนต์บีเอ็มดับบลิวของจำเลยไปแลกกับเงินที่เป็นหนี้จำเลยกับเสื้อ 3 ตัว และเครื่องรับโทรศัพท์ไร้สาย และก่อนจะหยิบเอาทรัพย์ไป จำเลยได้บอกผู้เสียหายว่าขอทรัพย์ดังกล่าวไปได้ไหม ผู้เสียหายตอบว่าอยากได้อะไรก็เอาไป ตามคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว แสดงว่าที่จำเลยเอาทรัพย์ไปก็เพื่อให้นายวันชัยเอาฝาถังน้ำมันรถยนต์บีเอ็มดับบลิวของจำเลยไปแลกทรัพย์คืนมา จำเลยเป็นคนมีฐานะดีเพราะจำเลยเบิกความว่า จำเลยประกอบอาชีพค้าขายสแตนเลสนำเข้าจากต่างประเทศ มีรายได้เดือนละประมาณ 10,000 บาท และเป็นเจ้าของกิจการอพาร์ตเมนต์ให้เช่ามีรายได้เดือนละประมาณ 100,000 บาท ซึ่งตรงกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวรพจน์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า จากการไปตรวจค้นบ้านของจำเลย พยานสังเกตว่าจำเลยเป็นบุคคลที่มีฐานะดี ดังนั้น การที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายและนายวันชัยไป จึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยว่าเพื่อต้องการให้นายวันชัยเอาฝาถังน้ำมันรถยนต์บีเอ็มดับบลิวของจำเลยไปแลกทรัพย์คืนมา จำเลยจึงไม่มีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกในความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาเกี่ยวกับดุลพินิจในการลงโทษจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ความผิดฐานนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจากโทษจำคุก 2 เดือนเป็นจำคุก 1 เดือน 15 วัน เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่เนื่องจากศาลล่างทั้งสองมิได้กำหนดโทษจำเลยฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธ เพราะความผิดฐานนี้เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และได้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว ศาลฎีกาจึงต้องกำหนดโทษจำเลยในความผิดฐานนี้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธจำคุก 1 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน เมื่อรวมโทษฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว เป็นจำคุก 9 เดือน 15 วัน ยกฟ้องโจทก์ฐานชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืน และให้ยกคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share