คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 24/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง คดีแรงงาน ++
++ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 1 หน้า 15 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++

ย่อยาว

เรื่อง คดีแรงงาน
จำเลย อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง (อุดรธานี) ลงวันที่ ๑๑ เดือน มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
ศาลฎีกา รับวันที่ ๒๒ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เคยทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำศูนย์พยาบาลโรงงานผลิตเยื่อกระดาษของจำเลย ได้รับเงินเดือนตั้งแต่งวดประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๓๙ถึงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๑ เดือนละ ๑๕,๒๐๙ บาท ระหว่างวันที่ ๑๗ตุลาคม ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๑ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาวันละ ๗๖๐.๔๕ บาท รวม ๒๔ วัน เป็นเงิน ๑๘,๒๕๐.๘๐ บาท ค่าทำงานวันหยุด วันละ ๕๐๖.๙๗ บาท รวม ๑๖ วัน เป็นเงิน ๘,๑๑๑.๕๒ บาทค่าล่วงเวลาในวันหยุด วันละ ๑,๕๒๐.๙๐ บาท รวม ๙ วัน เป็นเงิน๑๓,๖๘๘.๑๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๐,๐๕๒.๔๕ บาท นับแต่ครบกำหนดชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับแต่ละงวด จำเลยจงใจไม่ชำระค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน รวมเงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุดค่าล่วงเวลาในวันหยุดและเงินเพิ่มถึงวันฟ้อง จำนวน ๒๕๓,๕๐๘.๘๘ บาทขอให้บังคับจำเลยชำระค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จำนวน ๔๐,๐๕๐.๔๕ บาท เงินเพิ่มถึงวันฟ้อง จำนวน๒๑๓,๒๓๐.๔๑ บาท และเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าจากต้นเงิน ๔๐,๐๕๐.๔๕บาท ทุกระยะเจ็ดวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย พนักงานที่ทำงานในตำแหน่งระดับฝ่ายบริหาร หัวหน้างานหัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่าย ผู้จัดการ และผู้ควบคุมงานซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย สำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษ การวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ของผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดและค่าเสียหายแต่อย่างใด โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยงานตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ การทำงานล่วงเวลาจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องรับผิดชอบควบคุมดูแลงานให้เสร็จลุล่วงไปตามหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เอกสารการทำงานล่วงเวลาหมายเลข ๑ ถึง ๒๒ และ ๒๓ถึง ๒๔ ใช้สำหรับเป็นหลักฐานในการหยุดชดเชยเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ ๑๐กันยายน ๒๕๒๕ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่พยาบาล ต่อมาวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ จำเลยแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยพยาบาล โจทก์ได้รับเงินเดือน เดือนละ ๑๕,๒๐๙ บาท ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๓๙ เป็นต้นไป โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๑ ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๙ ถึงวันลาออกโจทก์ทำงานล่วงเวลา ๒๔ วัน ทำงานในวันหยุด ๑๖ วัน และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ๙ วัน ประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ ข้อ ๕.๔.๑ กำหนดพนักงานเฉพาะในตำแหน่งระดับฝ่ายบริหาร หัวหน้างาน หัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่าย ผู้จัดการและผู้ควบคุมงานเท่านั้นที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา มิได้กำหนดถึงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยด้วย ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงใช้บังคับแก่โจทก์ไม่ได้และประกาศของจำเลยที่ รง.๐๕๔/๒๕๔๐ เรื่องการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดของหัวหน้างาน ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ที่กำหนดให้หัวหน้างานที่มีตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยขึ้นไปที่ได้ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือตามประกาศของจำเลยไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่จำเลยจะอนุญาตให้หยุดชดเชยได้นั้น เป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๖ (๑)ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงไม่มีผลบังคับ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดรวม ๔๐,๐๕๐.๔๕ บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยจะต้องรับผิดชอบควบคุมดูแลงานให้สำเร็จลุล่วงไป สภาพงานและลักษณะงานของโจทก์จึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ควบคุมงาน” ตามประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ข้อ ๕.๔.๑ นั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๓๖ ได้กำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ ๓๔ และข้อ ๔๒ และใน (๑) ได้กำหนดถึงงานที่ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้างาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษหรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๖ (๑) นี้ จะเห็นได้ว่าลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนดนั้น หมายถึงลูกจ้างซึ่งทำงานในตำแหน่งบังคับบัญชา ซึ่งต้องมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยเปรียบเสมือนหนึ่งเป็นนายจ้าง ในกรณีการจ้างการลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษหรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ เพียงประการใดประการหนึ่งดังกล่าวก็ได้ ฉะนั้น เมื่อจำเลยกำหนดให้ “ผู้ควบคุมงาน” ซึ่งมีอำนาจทำการแทนจำเลย สำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษหรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย ข้อ ๕.๔.๑คำว่า “ผู้ควบคุมงาน” ดังกล่าวจึงต้องหมายถึงลูกจ้างของจำเลยซึ่งทำงานในตำแหน่งบังคับบัญชามีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยเด็ดขาดเปรียบเสมือนเป็นนายจ้างด้วย ซึ่งตามปกติย่อมหมายถึงผู้มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุดในแต่ละหน่วยงานของจำเลยเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องมีอำนาจทำการแทนจำเลยในเรื่องดังกล่าวข้างต้นด้วย แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่าโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วยพยาบาลเท่านั้นมิใช่ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วย โจทก์จึงมิใช่เป็นผู้ควบคุมงาน ตามประกาศเรื่องระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ประการสุดท้ายของจำเลยที่ว่า ประกาศที่รง.๐๕๔/๒๕๔๐ เรื่องการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดของหัวหน้างาน ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ของจำเลย ที่กำหนดให้หัวหน้างานที่มีตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าหน่วย ที่ได้ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือประกาศของจำเลยไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่จำเลยจะอนุญาตให้หยุดชดเชยได้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า ประเด็นตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแต่อย่างใด แม้ศาลแรงงานกลางจะหยิบยกประกาศที่รง.๐๕๔/๒๕๔๐ ของจำเลยดังกล่าวมาวินิจฉัยก็เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาทในคดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคแรกประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.

Share