คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำคัดค้านและฟ้องแย้งของผู้คัดค้านระบุในช่องคู่ความว่า อ. และ ป. ผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้คัดค้าน และบรรยายว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านไม่ประสงค์ให้ผู้ร้องอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทต่อไป ขอให้บังคับผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดิน การฟ้องแย้งของผู้คัดค้านดังกล่าว เป็นการฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยได้แสดงชัดแจ้งซึ่ง สภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตายจึงมีอำนาจฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของ ส. ได้ เพราะเมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทและมีผู้คัดค้านขึ้นมาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) ให้ดำเนินคดีไป อย่างคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นโจทก์ผู้คัดค้านย่อมมีฐานะ เป็นจำเลย ย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมที่ดินโฉนดที่ 8772 เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่35 ตารางวา บิดามารดาผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินเมื่อประมาณ 60 ปีที่ผ่านมาโดยถางป่าปรับสภาพที่ดิน ปลูกต้นไม้ ทำสวนและขุดบ่อเลี้ยงปลาเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2482 ผู้ร้องได้ร่วมครอบครองที่ดินดังกล่าวกับบิดามารดาบิดาผู้ร้องหายสาบสูญเมื่อปี 2485 ต่อมาเมื่อปี 2523 มารดาผู้ร้องได้แยกครอบครัวออกไป ผู้ร้องคงครอบครองที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวโดยเจตนายึดถือเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทำสวนและขุดบ่อเลี้ยงปลา โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของไม่มีผู้โต้แย้งหรือขัดขวางการครอบครองถึงปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปีเศษ ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวบางส่วนที่ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 8772 เฉพาะส่วน เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่โดยการครอบครองปรปักษ์ และขอให้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าวทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในส่วนของผู้ร้องออกเป็นโฉนดที่ดินใหม่และใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ มหาแถลง ผู้ตาย เดิมเมื่อปี 2523 นายม่อม พุ่มอุไร บิดาผู้ร้องได้ขายที่ดินทั้งแปลงให้แก่บริษัทสุโขการเคหะ จำกัด แต่บริษัทดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินจึงได้ให้นายม่อมอยู่อาศัยและดูแลที่ดินให้ ต่อมาปี 2527 บริษัทสุโขการเคหะ จำกัด ได้ขายที่ดินให้แก่นายสุวิทย์ผู้ตาย และผู้ตายได้ให้นายม่อมอยู่อาศัยในที่ดินต่อเนื่องจากผู้ตายยังไม่ได้เข้าทำประโยชน์ ผู้ร้องอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายม่อม และไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินเพียงแต่พักอาศัยอยู่บนที่ดินซึ่งมีเนื้อที่เพียง 100 ตารางวา ผู้คัดค้านไม่ประสงค์ให้ผู้ร้องอยู่ในที่ดินอีกต่อไป ผู้ร้องจึงต้องรื้อถอนบ้านเลขที่ 17/1 ออกจากที่ดินพิพาท หากผู้ร้องไม่ส่งมอบที่ดินคืนกองมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องต้องใช้ค่าเสียหายให้เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้ง ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอนบ้านซึ่งปลูกบนที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อย กับใช้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท แก่ผู้คัดค้านนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท

ผู้ร้องให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของผู้คัดค้านเคลือบคลุมโดยไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านอาศัยสิทธิใด เพราะสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างกันฟ้องแย้งจึงขัดต่อกฎหมายทำให้ผู้ร้องหลงต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 17/1 หมู่ที่ 6 แขวงลาดพร้าวเขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดที่ 8772ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และให้ผู้ร้องส่งมอบที่ดินพิพาทคืนผู้คัดค้านในสภาพเรียบร้อย กับชำระค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้านเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2538 จนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารกับรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนผู้คัดค้าน

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2508 ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินโฉนดที่ 8772 เลขที่ดิน 148ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่35 ตารางวา ให้แก่นายม่อม พุ่มอุไร ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดดังกล่าว ในปี 2523 นายม่อมได้ขายที่ดินโฉนดที่ 8772 ให้แก่บริษัทสุโขการเคหะ จำกัด ตามสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ค.7โดยนายอนันต์ สุขสันต์ กับนายสุวิทย์ มหาแถลง ร่วมหุ้นกันซื้อที่ดินมาจัดสรร นายอนันต์ได้ให้นายม่อมดูแลที่ดินแทน เมื่อปี 2527 นายอนันต์โอนหุ้นในบริษัทฯ ทั้งหมดให้แก่นายสุวิทย์ บริษัทฯ โอนขายที่ดินโฉนดที่ 8772 ให้แก่นายสุวิทย์ นายสุวิทย์จึงเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวเพียงผู้เดียวตามสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ค.8 นายสุวิทย์ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2532 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์

ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของผู้ร้องว่า ฟ้องแย้งของผู้คัดค้านเคลือบคลุมหรือไม่ก่อน ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านมิได้บรรยายว่า ผู้คัดค้านใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ฟ้องขับไล่ผู้รบกวนการครอบครองหรือฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องบุคคลที่ครอบครองทรัพย์มรดกไว้ เห็นว่า คำคัดค้านและฟ้องแย้งของผู้คัดค้านระบุในช่องคู่ความว่า นายอาภรณ์ มหาแถลง และนายประกิจ มหาแถลง ผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ มหาแถลง ผู้คัดค้าน และบรรยายว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ มหาแถลง ผู้ตาย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 8772 ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านไม่ประสงค์ให้ผู้ร้องอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทต่อไป ขอให้บังคับผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมรื้อถอนบ้านเลขที่ 17/1 หมู่ที่ 6 แขวงลาดพร้าวเขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ออกไปจากที่ดินโฉนดที่ 8772 การฟ้องแย้งของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยได้แสดงชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องแย้งของผู้คัดค้านไม่เคลือบคลุม ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ผู้คัดค้านในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ผู้ตายจึงมีอำนาจฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายได้เพราะเมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทและมีผู้คัดค้านขึ้นมา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4)ให้ดำเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นโจทก์ ผู้คัดค้านย่อมมีฐานะเป็นจำเลย จึงย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งผู้ร้องได้ ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share