คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ฝากรถยนต์ไว้กับจำเลยที่ 1 โดยมีบำเหน็จค่าฝาก จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นำรถที่จำเลยที่ 1 รับฝากออกไปขับทำให้รถเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าเสียหายนี้ ส่วนฟ้องของโจทก์ที่ 2 เพียงแต่กล่าวว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ไปขับประมาท เป็นเหตุให้ชนรถของโจทก์ที่ 2 เสียหาย ฟ้องของโจทก์ที่ 1 เป็นเรื่องให้บังคับตามสัญญาฝากทรัพย์ ส่วนฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นเรื่องละเมิดฟ้องของโจทก์ที่ 1 ไม่เคลือบคลุม แต่สำหรับฟ้องของโจทก์ที่ 2 ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในการงานอะไร และการที่จำเลยที่ 2 นำรถของโจทก์ที่ 1 ออกไปขับเป็นการกระทำไปในทางการที่จำเลยที่ 1 จ้างจึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อความสำคัญที่จะให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในผลอันเกิดแต่มูลละเมิดที่จำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดขึ้น ศาลจะอาศัยฟ้องเช่นนี้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425 มิได้
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า การฟ้องขอให้ผู้รับฝากทรัพย์ใช้ค่าซ่อมรถยนต์ที่เกิดการเสียหายเนื่องจากความผิดของผู้รับฝากเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 671 และถือว่าวันสิ้นสุดสัญญาคือวันที่โจทก์ที่1 ได้รับรถยนต์คืนมา (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17-18/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.ท.ท.0816โจทก์ที่ 1 นำรถยนต์คันนี้ไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 คิดค่ารับฝากคืนละ 3 บาท ครั้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2516 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ไปโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ท.2357 ของโจทก์ที่ 2 ทำให้รถของโจทก์ที่ 1 เสียหาย 19,380 บาท ของโจทก์ที่ 2 เสียหาย 19,420 บาทจำเลยทั้งสองต้องรับผิดร่วมกัน จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองจะเป็นเจ้าของรถยนต์ตามฟ้องหรือไม่จำเลยไม่รับรอง จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถและจำเลยที่ 1ก็ไม่เคยรับฝากรถจากโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นเพียงลูกจ้างขายน้ำมันของจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ได้เอารถของโจทก์ที่ 1 ไปขับจนเกิดความเสียหายกับโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำนอกเหนือทางการจ้างของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินคันละ 2,000 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะเกิน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญาฝากรถ ทั้งเป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะตามฟ้องไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุใด

โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอนุญาต

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เช่ารถของโจทก์ที่ 1 นำรถตามฟ้องไปฝากไว้กับจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นำรถโจทก์ที่ 1ออกไปขับขี่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ในทางการที่จำเลยที่ 1จ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 1 รับฝากรถแล้วปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 นำรถออกไปทำละเมิดเกิดความเสียหายจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ฟ้องไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความเพราะเป็นเรื่องละเมิดอายุความ 1 ปี พิพากษาให้จำเยที่ 1 ใช้ค่าซ่อมรถให้โจทก์ที่ 1 พร้อมทั้งดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์ที่ 2

โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ารถเสื่อมสภาพด้วยโจทก์ที่ 2อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เพราะเหตุใด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับฝากรถจากโจทก์ที่ 1และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วใช้อายุความ 1 ปีก็ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานรับฝากรถไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิด จึงต้องใช้อายุความ 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และการที่จำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเรื่องนอกเหนือจากทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 รับฝากรถของโจทก์ที่ 1 ไว้โดยคิดค่าตอบแทนและประพฤติผิดสัญญาโดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 2 นำรถของโจทก์ที่ 1 ไปชนกับรถของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ฟ้องได้ภายใน 1 ปี คดีไม่ขาดอายุความ ส่วนค่าเสื่อมสภาพของรถเห็นว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ควรได้รับพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย สำหรับโจทก์ที่ 1 เหมือนกับชั้นอุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น สำหรับฟ้องของโจทก์ที่ 1 ได้บรรยายว่าโจทก์ที่ 1 ฝากรถยนต์ไว้กับจำเลยที่ 1 โดยมีบำเหน็จค่าฝากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นำรถที่จำเลยที่ 1 รับฝากออกไปขับทำให้รถเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าเสียหายนี้ ส่วนฟ้องโจทก์ที่ 2 เพียงแต่กล่าวว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ไปขับประมาทเป็นเหตุให้ชนรถของโจทก์ที่ 2 เสียหาย ฟ้องของโจทก์ที่ 1 เป็นเรื่องให้บังคับตามสัญญาฝากทรัพย์ ส่วนฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นเรื่องละเมิด ฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงไม่เคลือบคลุมแต่สำหรับฟ้องของโจทก์ที่ 2 ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในการงานอะไร และการที่จำเลยที่ 2 นำรถของโจทก์ที่ 1 ออกไปขับเป็นการกระทำไปในทางการที่จำเลยที่ 1 จ้าง จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อความสำคัญที่จะให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในผลอันเกิดแต่มูลละเมิดที่จำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดขึ้น ศาลจะอาศัยฟ้องเช่นนี้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 มิได้ในปัญหาเรื่องอายุความฟ้องร้องของโจทก์ที่ 1 ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า การฟ้องขอให้ผู้รับฝากทรัพย์ใช้ค่าซ่อมรถยนต์ที่เกิดการเสียหายเนื่องจากความผิดของผู้รับฝาก เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 671 และถือว่าวันสิ้นสุดสัญญาคือวันที่โจทก์ที่ 1 ได้รับรถยนต์คืนมา และฟังข้อเท็จจริงว่านับเวลาตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 1 รับรถยนต์คืนจนถึงวันที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินหกเดือนแล้วฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

Share