แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ในคดีนี้ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร จำเลยในคดีนี้ได้นำข่าวลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลยว่า “อดีตกำนันแนว 5 เป็นลมที่ศาล พยานระบุกลางศาลคบเขมร” และลงเนื้อข่าวต่อไปว่า “กำนันผู้ต้องหาขายชาตินำการเคลื่อนไหวของทางการตำรวจทหารไทยไปเปิดเผยให้เขมรเป็นลมฟุมกลางศาล เมื่อถูกพยานปากสำคัญให้การว่าถูกกำนันใช้ไปติดต่อทหารเขมร..” และดำเนินข่าวต่อไปว่า โจทก์คดีนี้ถูกตำรวจจับกุมและถูกฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา)ข้อความที่จำเลยลงข่าวนี้ เมื่ออ่านดูข้อความทั้งหมดแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นการรายงายข่าวเรื่องที่โจทก์คดีนี้ถูกฟ้องในข้อหาว่ากระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร แม้จะเป็นการเขียนข่าวโดยใช้ถ้อยคำให้ผิดเพี้ยนจากที่โจทก์ถูกฟ้องไปบ้าง เช่นใช้คำว่า “แนว 5” “คนขายชาติ” ก็ตาม แต่ก็เป็นถ้อยคำที่มีความหมายทำนองเดียวกับที่โจทก์ถูกฟ้องนั่นเอง ส่วนเรื่องที่จำเลยลงข่าวว่าโจทก์เป็นลมล้มพับลงกลางศาลนั้น ความจริงโจทก์เพียงแต่แถลงต่อศาลว่าปวดศีรษะมากจะเป็นลม แม้จำเลยได้แจ้งข่าวเกินเลยความจริงไปบ้างก็ตาม แต่ยังไม่พอที่จะถือได้ว่าจำเลยได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ฉะนั้น เนื้อข่าวของจำเลยตอนนี้จึงถือได้ว่าได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 329(4) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
จำเลยลงภาพโจทก์และเขียนข้อความลงใต้ภาพของโจทก์ว่า “คนขายชาติ อดีตกำนันยี ดันยี คนไทยผู้ยอมเป็นลูกมือเขมร สืบราชการลับ เมื่อถูกตีแผ่ความผิดถึงกับเป็นลมกลางศาล” ข้อความในตอนนี้เป็นคนละตอนแยกออกต่างหากจากเนื้อข่าวที่กล่าวแล้วในตอนแรก และไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล แต่เป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์จำเลยเอง ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นคนขายชาติเป็นคนไทยผู้ยอมเป็นลูกมือเขมรสืบราชการลัม ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ความจริงโจทก์เพียงแต่ถูกฟ้องร้องต่อศาลเท่านั้น เมื่อโจทก์ลงข่าวโดยแสดงความเห็นเสียเองเช่นนี้ จึงเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบกับมาตรา 328 และการลงข่าวตอนนี้ไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(4)
จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง จึงต้องรับผิดเป็นตัวการในการที่หนังสือพิมพ์จำเลยลงข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรค 2 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ลงข่าวนี้โดยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการแทนก็ตาม จำเลยที่ 1 หาพ้นผิดไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาท
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ไ่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๙(๔) และ ๓๓๐
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบรรณาธิการนั้น ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ ๒ ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๔) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความเกี่ยวกับตัวโจทก์ที่จำเลยลงเป็นข่าวและโจทก์นำมาฟ้องร้องหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์นั้น แบ่งออกได้เป็น ๒ ตอน ตอนหนึ่งเป็นเนื้อข่าวที่หนังสือพิมพ์ของจำเลยไม่ได้มาจากศาล อีกตอนหนึ่งเป็นภาพของโจทก์และถ้อยคำที่จำเลยเขียนไว้ใต้ภาพของโจทก์ สำหรับตอนที่หนึ่งที่เป็นเนื้อข่าวนั้น จำเลยได้ลงพากหัวข่าวว่า “อดีตกำนันแนว ๕ เป็นลมที่ศาล พยานระบุกลางศาลคบเขมร” และได้ลงเนื้อข่าวต่อไปว่า “กำนันผู้ต้องหาขายชาตินำการเคลื่อนไหวของทางการตำรวจ ทหารไทย ไปเปิดเผยให้เขมรเป็นลมฟุบกลางศาลเมื่อถูกพยานปากสำคัญให้การว่าถูกกำนันใช้ไปติดต่อทหารเขมร” ต่อไปก็ได้ดำเนินข่าวเป็นลำดับไปว่าโจทก์คดีนี้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและถูกฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) ฯลฯ เนื้อข่าวที่จำเลยลงในหนังสือพิมพ์ตอนนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อ่านดูข้อความทั้งหมดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นการรายงานข่าวเรื่องที่โจทก์คดีนี้ถูกจับและถูกฟ้องร้องในข้อหาว่ากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร แม้จะเป็นการเขียนข่าวโดยใช้ถ้อยคำให้ผิดเพี้ยนจากที่โจทก์ถูกฟ้องและถูกกล่าวหาไปบ้าง เช่น ใช้คำว่า “แนว ๕” และคำว่า “ขายชาติ” เป็นต้น ก็เป็นถ้อยคำที่มีความหมายทำนองเดียวกับที่โจทก์ถูกฟ้องและถูกกล่าวหานั่นเองสำหรับเนื้อข่าวของจำเลยในตอนนี้จึงถือได้ว่าจำเลยได้แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๙(๔) ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ส่วนตอนที่สอง ที่จำเลยลงภาพของโจทก์และเขียนข้อความลงใต้ภาพโจทก์ว่า”คนขายชาต อดีตกำนันยีตันยี คนไทยผู้ยอมเป็นลูกมือเขมรสืบราชการลับ เมื่อถูกตีแผ่ความผิดถึงเป็นลมกลางศาล” ข้อความตอนนี้เป็นคนละตอนแยกออกต่างหากจากเนื้อข่าวที่กล่าวแล้วในตอนแรกและมิใช่เป็นการแจ้งข่าวเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล แต่เป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์จำเลยเอง อธิบายภาพของโจทก์ที่ลงพิมพ์ไว้แล้วนั้น ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เมื่อเห็นภาพของโจทก์และคำอธิบายใต้ภาพของโจทก์ดังกล่าวนี้ ก็ย่อมจะเข้าใจได้ในทันทีนั้นว่า ภาพนั้นคือภาพของอดคตกำนันยีตันยี(ตัวโจทก์)ซึ่งเป็ฯคนขายชาติ เป็นคนไทยผู้ยอมเป็นลูกมือเขมรสืบราชการลับซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง ความจริงโจทก์เพียงแต่ถูกฟ้องร้องต่อศาลในข้อหาว่ากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ซึ่งขณะนั้นศาลกำลังพิจารณาอยู่ว่าโจทก์ได้กระทำผิดดังที่ถูกฟ้องร้องหรือไม่เท่านั้น โจทก์จะได้รกะทำผิดจริงดังที่ถูกฟ้องร้องหรือไม่นั้น ย่อมเป็นหน้าที่ของศาลที่จะชี้ขาด จำเลยหามีสิทธิที่จะก้าวล่วงคำพิพากษาของศาลว่า โจทก์คดีนี้ได้กระทำความผิดจริงดังที่ถูกฟ้องร้องนั้นแล้วหรือไม่ ฉะนั้น เมื่อจำเลยลงข่าวเป็นการอธิบายภาพของโจทก์โดยแสดงความเห็นเสียเองว่า โจทก์เป้ฯคนขายชาติ เป็นคนไทยผู้ยอมเป้นลูกมือเขมร จึงเป็นการใส่ความโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒๘ การลงข่าวของจำเลยตอนนี้ไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลจำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๙(๔)
ส่วนในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ ด้วยหรือไม่นั้น จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวันฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง จำเลยที่ ๑ ก็ต้องรับผิดเป็นตัวการในที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ส.๒๔๘๔ แม้จำเลยที่ ๑ จะไม่ได้เป็นผู้ลงข่าวอันเป็นความผิดนี้ โดยมอบหมายให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการแทน จำเลยที่ ๑ ก็หาพ้นผิดไม่ เพราะบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความใต้ภาพของโจทก์นี้จำเลยได้นำลงในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ใกล้เคียงกับเนื้อข่าวในเรื่องที่ว่า โจทก์ถูกจับกุมและฟ้องร้องในศาล ฉะนั้น ถ้าผู้อ่านหนังสือพิมพ์อ่านทั้งเนื้อข่าวและข้อความใต้ภาพโจทก์ด้วย ก็เข้าใจได้ว่าโจทก์กำลังถูกฟ้องร้องอยู่ในศาล ย่อมเป็นการบรรเท่าความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดของจำเลย จึงสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบา
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒๘ ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินคนละ ๕๐๐ บาท คำขออื่นให้ยกเสีย.