แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ โจทก์จำเลยที่ 1 ได้ตกลง กันซึ่งพนักงานสอบสวนได้บันทึกไว้มีใจความว่า จำเลยที่ 1ยอมรับผิดและยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย โดยจะนำรถของโจทก์ไป ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมและใช้การได้ โดยจะนำไปซ่อมที่ อู่ ช. คู่กรณีตกลงและไม่ติดใจค่าเสียหายอื่นอีก โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ข้อตกลง ดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาท ที่โจทก์จะเรียกค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ของโจทก์ ค่าเสียหายอื่นอันเกิดจากการกระทำละเมิดซึ่งมีอยู่ในขณะนั้น จากจำเลยที่ 1 ให้เสร็จไปด้วยการผ่อนผันให้แก่กัน โดยโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 นำรถไปซ่อมแซมที่อู่ ช. ให้อยู่ในสภาพเดิมแทนการเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงินและจำเลยที่ 1 ตกลงซ่อมแซม ให้ จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลให้มูลหนี้ละเมิดระงับสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตามมาตรา 852 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์ และเมื่อมูลหนี้ละเมิดระงับ จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นความรับผิดไปด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 คันหมายเลขทะเบียน 8จ-1451กรุงเทพมหานคร โดยประมาทถอยหลังออกจากที่จอดรถไปชนรถยนต์ของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน 2ข-6161 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองยินยอมชำระค่าซ่อมให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียเงินค่าซ่อม 22,459 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังเสียหายเป็นค่าเสื่อมราคารถยนต์เป็นเงิน 20,000 บาทและเสียค่ารถยนต์รับจ้างโดยเฉลี่ยวันละ 500 บาท รวม 7 วันเป็นเงิน 3,500 บาท และดอกเบี้ยในเงินค่าซ่อมนับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 138.66 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น46,133.66 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน46,133.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน22,495 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยินยอมชำระค่าซ่อมให้แก่โจทก์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันเอง ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าหลังเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนและให้ทำบันทึกประจำวันตามเอกสารหมายจ.2 อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งระงับมูลหนี้ละเมิด แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 22,495 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเอกสารหมาย จ.2 ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 32,995 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้บันทึกข้อตกลงมีใจความว่า “จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย โดยจะนำรถของโจทก์ไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมและใช้การได้ โดยจะนำไปซ่อมที่อู่ช่อเส็ง ถนนพัฒนาการ คู่กรณีตกลงและไม่ติดใจค่าเสียหายอื่นอีกแต่อย่างใด โจทก์กับจำเลยที่ 1ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ปรากฏรายละเอียดตามรายงานประจำเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2 มีปัญหาว่าข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดตกลงระงับข้อพิพาทที่โจทก์จะเรียกค่าเสียหายในการซ่อมรถหมายเลขทะเบียน2ข-6161 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ และค่าเสียหายอื่นอันเกิดจากการกระทำละเมิดซึ่งมีอยู่ในขณะนั้น จากจำเลยที่ 1 ให้เสร็จไปด้วยการผ่อนผันให้แก่กัน โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 นำรถคันดังกล่าวไปซ่อมแซมที่อยู่ช่งเส็งให้อยู่ในสภาพเดิมแทนการเรียกค่าเสียหายในการซ่อมแซมเป็นตัวเงินและจำเลยที่ 1 ตกลงซ่อมแซมให้ ข้อตกลงค่าเสียหายจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ถึงแม้ตามสัญญาดังกล่าวจะมีความต่อไปว่า “หากมีการบิดพลิ้วจึงแนะนำให้ไปฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งกับจำเลยที่ 1″ ก็เป็นเรื่องความเห็นและข้อแนะนำของร้อยตำรวจโทอดิศักดิ์ ชูพันธุ์ พนักงานสอบสวนเอง หาใช่ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายซึ่งได้ระงับข้อพิพาทกันแล้วแต่อย่างใหม่ เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้วเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลให้มูลหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 ทำระงับสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 852 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 และเมื่อมูลหนี้ละเมิดระงับจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นความรับผิดไปด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น