แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดเก็บเงินและวางบิล มีหน้าที่นำส่งใบแจ้งหนี้แก่ลูกค้า รับเงินหรือเช็คที่ลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้า เมื่อจำเลยรับเช็คจากลูกค้าแล้วจะต้องถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้า แล้วมอบเช็คแก่แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีโจทก์ร่วม แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยรับเช็คจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยได้ถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้าแล้วแต่ไม่ได้นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ นั้น ไปส่งแผนกบัญชีของโจทก์ร่วม กลับนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินตามเช็คโดยเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยรับเช็คของลูกค้าของโจทก์ร่วมที่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมนั้นเป็นการรับในฐานะที่จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คดังกล่าวไปให้แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น การที่เช็คจำนวน 10 ฉบับ มาอยู่ที่จำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยยึดถือเช็คดังกล่าวเพื่อโจทก์ร่วมเท่านั้นเพราะสิทธิครอบครองในเช็คดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (11) ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 14,498,450 บาท แก่ผู้เสียหาย และเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ได้กระทำผิดทุกกรรมด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทแอบบรา จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 7 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 14,498,450 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 7 กระทง เป็นจำคุก 14 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม มีหน้าที่ส่งใบแจ้งหนี้แก่ลูกค้าและรับเช็คจากลูกค้านำส่งโจทก์ร่วม ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยนำเช็คพิพาทจำนวน 10 ฉบับ ที่บริษัทไทยแอ็ดว้านซ์ฟูด (1991) จำกัด สั่งจ่ายชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม รวมเป็นเงิน 14,498,450 บาท ไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์ มีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมา ในปัญหานี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางทัสสินี กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดเก็บเงินและวางบิล มีหน้าที่จัดวางบิลแก่ลูกค้าเพื่อจัดเก็บเงินค่าสินค้า เมื่อจำเลยรับเช็คจากลูกค้าหรือพนักงานอื่นที่รับเช็คจากลูกค้าซึ่งนำมาให้จำเลยแล้ว จำเลยมีหน้าที่ถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อตัดยอดหนี้จากบัญชีลูกค้าแล้วมอบเช็คแก่แผนกบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่จำเลยนำเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักสีลม ที่บริษัทไทยแอ็ดว้านซ์ฟูด (1991) จำกัด สั่งจ่ายชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์ รวม 7 ครั้ง รวมเป็นเช็ค 10 ฉบับ จำนวนเงิน 14,498,450 บาท ต่อมาพยานทราบเรื่องเมื่อตรวจสอบรายงานทะเบียนเช็ครับ ซึ่งบันทึกรายการเช็คทั้ง 10 ฉบับ ไว้ แต่จำเลยมิได้นำไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีโจทก์ร่วม พยานเรียกจำเลยมาสอบถามถึงสาเหตุ ปรากฏว่าจำเลยหลบหนีไปก่อน จากการสอบถามบริษัทไทยแอ็ดว้านซ์ฟูด (1991) จำกัด ผู้สั่งจ่ายเช็คแล้วได้ความว่า มีพนักงานโจทก์ร่วมรับเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ นำไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลย พยานจึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลย เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวเบิกความได้สอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามฟ้องโจทก์ว่า จำเลยนำเช็คจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งบริษัทไทยแอ็ดว้านซ์ฟูด (1991) จำกัด ลูกค้าโจทก์ร่วมสั่งจ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมไปเรียกเก็บเงินตามเช็ค โดยนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาท่าเรือสาธุประดิษฐ์ นอกจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวซึ่งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุสงสัยว่าพยานดังกล่าวจะเบิกความกลั่นแกล้ง ปรักปรำจำเลยแล้ว โจทก์ยังมีพยานเอกสารแสดงให้เห็นถึงการนำเช็คจำนวน 10 ฉบับ เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยและมีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยดังกล่าวไป ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยนำเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เรียกเก็บเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเพราะนายเอกดนัย สามีของนางทัสสินีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมมีคำสั่งห้ามจำเลยชะลอการนำเช็คเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีไว้ก่อนและอนุญาตให้จำเลยนำเช็คไปเบิกเงินใช้ก่อนได้เพื่อหลบเลี่ยงภาษีนั้น เห็นว่า เป็นข้อนำสืบที่ขัดต่อเหตุผลเพราะจำนวนเงินตามเช็คทั้ง 10 ฉบับรวมกันสูงถึง 14 ล้านบาทเศษ ไม่น่าเชื่อว่านายเอกดนัยหรือโจทก์ร่วมจะยินยอมให้พนักงานระดับจำเลยนำเงินไปใช้ก่อนโดยไม่มีหลักประกันให้เชื่อถือได้ว่าจำเลยจะนำเงินดังกล่าวมาใช้คืนให้แก่โจทก์ร่วมได้ ข้อต่อสู้ตามทางนำสืบของจำเลยจึงเป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11 ) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 7 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมเป็นจำคุก 14 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์