แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไว้แทน น. ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ทั้งสาม น. ได้ ตกลงจะขายที่ดินดังกล่าวกับที่ดินแปลงอื่นรวม 73 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ทั้งสามได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการล่วงหน้าและรับเงินมัดจำจำนวน 8,000,000 บาท ไปจากจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ทั้งสามจึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสาม และให้โจทก์ทั้งสามริบเงินมัดจำจากจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสามเป็นตัวแทนของ น. ในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และดำเนินการต่างๆ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ น. ทำไว้กับจำเลยที่ 1 สิทธิในที่ดินและตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นของโจทก์ทั้งสาม หากมีการโต้แย้งสิทธิก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของ น. มิใช่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงมิใช่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายแพ่งที่จะนำคดีมาสู่ศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนายนันทวัฒน์และเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 เนื้อที่รวมกัน 16 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ไว้แทนนายนันทวัฒน์ เมื่อประมาณกลางปี 2537 จำเลยที่ 1 มาหานายนันทวัฒน์ติดต่อขอซื้อที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จำนวน 73 แปลง โดยติดต่อหลายครั้ง ในที่สุดนายนันทวัฒน์ตกลงขายที่ดินทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 ในราคา 110,000,000 บาท มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าผู้จะซื้อจะชำระเงินค่ามัดจำ 8,000,000 บาท ให้แก่ผู้ขาย มีเงื่อนไขว่าผู้จะขายจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4812 ให้แก่ผู้จะซื้อก่อน เพื่อนำไปเป็นหลักทรัพย์ในการเสนอขอกู้เงินจากบุคคลที่ให้การสนับสนุนจำเลยที่ 1 แล้วจะนำเงินมาชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือต่อไป ต่อมานายสุชาติซึ่งจำเลยที่ 1 บอกว่าเป็นหุ้นส่วนร่วมทำธุรกิจนำแบบหนังสือสัญญาขายที่ดินของสำนักงานที่ดินมาให้โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อตามจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ให้ โดยหนังสือสัญญาขายที่ดินยังไม่ได้กรอกข้อความใดๆ เมื่อโจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อแล้ว นายสุชาติได้นำหนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้ซื้อ โจทก์ที่ 1 ทักท้วงจำเลยที่ 1 ว่าไม่ได้ตกลงขายให้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 บอกว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนด้วยอีกคนหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาขายที่ดินแล้วก็ออกจากสำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมไปกับนายสุชาติ โดยนายสุชาติบอกจำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสามว่าจะรีบไปเบิกเงินมาชำระค่าที่ดิน เมื่อนายสุชาติกลับมาที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม โจทก์ที่ 1 สอบถามเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 นายสุชาติไม่ยอมตอบ บอกว่าจะรีบไปชำระเงินค่าธรรมเนียม จากนั้นก็เดินกลับมาหาโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งถือโฉนดที่ดิน 2 แปลง ที่โจทก์ที่ 1 มอบให้ และพูดว่าเรียบร้อยแล้ว นายสุชาติบอกให้ไปเอาเงินที่บ้าน โจทก์ทั้งสามรวมทั้งนายนันทวัฒน์จึงตามนายสุชาติไป เมื่อถึงบ้านนายสุชาติให้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อรับเงินในหนังสือสัญญา โจทก์ที่ 1 ทักท้วงว่าไม่ได้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ขายให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พูดว่าทำไว้ให้สบายใจทุกฝ่ายเท่านั้นเองไม่มีอะไร โจทก์ทั้งสามจึงลงลายมือชื่อรับเงินค่ามัดจำเป็นเงิน 8,000,000 บาท ซึ่งในสัญญาฉบับดังกล่าวระบุการรับเงินถึง 13,000,000 บาท โจทก์ที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับเงิน 5,000,000 บาท เอาไว้ด้วย หลังจากนั้นนายสุชาติและจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วมาให้โจทก์ที่ 1 ดู โจทก์ที่ 1 จึงลงลายมือชื่อเป็นพยาน ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2538 โจทก์ที่ 1 และนายนันทวัฒน์ไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้าน แต่ไม่พบ วันรุ่งขึ้นติดต่อไปที่บ้านนายสุชาติได้รับคำตอบว่าไม่ได้พบจำเลยที่ 1 นับแต่วันทำสัญญา ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินค่าที่ดินงวดที่สองมาชำระให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจึงริบเงินมัดจำ 8,000,000 บาท และมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือไปยังจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 กลับคืนให้แก่โจทก์ทั้งสาม ทั้งมอบให้ทนายความมีหนังสือไปยังจำเลยที่ 2 บอกกล่าวให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย การที่จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินทั้ง 2 แปลงจากโจทก์ทั้งสามเป็นการรับโอนไว้แทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลง ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จำนวน 2 แปลง คืนให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้โจทก์ทั้งสามริบเงินมัดจำ 8,000,000 บาท จากจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 รู้จักกับนายนันทวัฒน์บิดาของโจทก์ทั้งสามมานานแล้ว เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินกันหลายครั้ง มีความสนิทสนทกันมาก เมื่อเดือนกันยายน 2537 โจทก์ทั้งสามและนายนันทวัฒน์มาพบจำเลยที่ 1 ที่บ้าน ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ช่วยดำเนินการนำที่ดินตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ประมาณ 27 ไร่ ไปทำการจัดสรรและขายให้แก่บุคคลอื่นเพื่อนำผลกำไรมาแบ่งปันกัน แต่โจทก์ทั้งสามและนายนันทวัฒน์มีข้อแม้ว่าจำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 10,000,000 บาท ก่อนโดยให้จำเลยที่ 1 ช่วยติดต่อหานายทุนให้ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้ทราบว่าหาเงินให้โจทก์ทั้งสามได้แล้ว แต่โจทก์ทั้งสามต้องทำสัญญาโอนขายที่ดินให้ 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของเงินก่อน แล้วทำสัญญาซื้อคืนได้ภายหลัง โจทก์ทั้งสามและนายนันทวัฒน์ตกลง ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2537 จึงนัดมาทำการโอนที่ดิน จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามไปแล้ว 10,000,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 3,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเป็นเงินสด โดยหักค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายการโอน และค่านายหน้า พร้อมกันนี้โจทก์ทั้งสามให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 2 แปลงคืนจากจำเลยที่ 2 ในราคา 14,625,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2537 โจทก์ทั้งสามและนายนันทวัฒน์มาพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านอีก พร้อมทั้งทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไว้ฉบับหนึ่งว่าโจทก์ทั้งสามจะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2097, 4738-4772, 4774-4810 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมเนื้อที่ 27 ไร่เศษ ในราคา 110,000,000 บาท และได้วางมัดจำไว้ 8,000,000 บาท ซึ่งความจริงในวันที่ 19 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ทั้งสาม ไม่มีการวางมัดจำการซื้อขายที่ดินจำนวน 8,000,000 บาท และไม่มีการตกลงจะซื้อจะขายที่ดินต่อกัน สัญญาฉบับดังกล่าวทำกันในวันที่ 20 ตุลาคม 2537 ซึ่งโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะให้มีผลใช้บังคับ เนื่องจากโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจะทำธุรกิจจัดสรรที่ดินร่วมกันแล้วนำผลกำไรมาแบ่งปันกัน โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน สัญญาฉบับดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 ได้ทำอำพรางการลงทุนทำธุรกิจจัดสรรที่ดินร่วมกัน โดยโจทก์ทั้งสามเกรงว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ร่วมดำเนินการจัดสรรที่ดินแล้วนำผลกำไรมาแบ่งปัน สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินตามฟ้อง โจทก์ทั้งสามได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 เนื้อที่รวม 16 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 และนายสุชาติซึ่งเป็นอาของจำเลยที่ 2 ในราคา 13,000,000 บาท โดยทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งได้รับชำระเงินค่าที่ดินไปครบถ้วนแล้ว ที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และนายสุชาติ จำเลยที่ 2 และนายสุชาติไม่เคยเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจใดๆ กับจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับโอนที่ดินไว้แทนจำเลยที่ 1 นอกจากนี้โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จะมีข้อตกลงหรือสัญญากันอย่างใดหรือไม่ก็เป็นเรื่องระหว่างกันเอง โจทก์ทั้งสามจะอาศัยข้อตกลงหรือสัญญาดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโอนที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามไม่ได้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 14,625,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชำระเงินค่าที่ดินเป็นงวดรวม 12 งวด เป็นเงินงวดละ 725,000 บาท 11 งวด และงวดสุดท้ายชำระ 11,050,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระราคาที่ดินตามเงื่อนไขให้ถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายเป็นอันยกเลิกกันทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ทั้งนี้โดยความตกลงยินยอมของโจทก์ทั้งสาม จึงได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาดังกล่าว โจทก์ทั้งสามเกรงว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระราคาตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 2 ขายที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขตามที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ทั้งสามก่อน หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญากับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสามทราบแล้วก็ไม่ตกลงซื้อที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 กลับให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินทั้ง 2 แปลง คืนแก่โจทก์ทั้งสาม โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญากับโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 จึงมีหนังสือบอกเลิกข้อตกลงที่จะขายที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามและปฏิเสธที่จะโอนที่ดินคืน เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่จะต้องโอนที่ดินคืนให้แก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม กับให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิริบเงินมัดจำ 8,000,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ได้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ฎีกาโดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามอ้างว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 ตำบลทุ่งกระพังโหม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ไว้แทนนายนันทวัฒน์ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ทั้งสาม นายนันทวัฒน์ได้ตกลงจะขายที่ดินดังกล่าวกับที่ดินแปลงอื่นรวม 73 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ทั้งสามได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการล่วงหน้าและรับเงินมัดจำจำนวน 8,000,000 บาท ไปจากจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ทั้งสามจึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 คืนแก่โจทก์ทั้งสาม และให้โจทก์ทั้งสามริบเงินมัดจำจำนวน 8,000,000 บาท จากจำเลยที่ 1ตามคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสามเป็นตัวแทนของนายนันทวัฒน์ในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2097 และ 4810 และดำเนินการต่างๆ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่นายนันทวัฒน์ทำไว้กับจำเลยที่ 1 สิทธิในที่ดินและตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นของโจทก์ทั้งสาม หากมีการโต้แย้งสิทธิก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของนายนันทวัฒน์มิใช่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงมิใช่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายแพ่งที่จะนำคดีมาสู่ศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ทั้งโจทก์ทั้งสามมิได้รับมอบอำนาจจากนายนันทวัฒน์ให้ฟ้องคดีแทนตามมาตรา 60 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ