คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ การที่จำเลยที่ 4 เข้าไปดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ไม่มีผลให้จำเลยที่ 4 กลายเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย และแม้จำเลยที่ 4 จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนกับชื่อของห้างจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2545 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันซื้อสินค้าประเภททรายและหินจากโจทก์รวมเป็นเงิน 254,480 บาท กำหนดชำระค่าสินค้าวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 แต่จำเลยทั้งสี่ผิดนัด โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 271,975.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 254,480 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่ไม่เคยสั่งซื้อและไม่เคยได้รับสินค้าตามฟ้องจากโจทก์ ทั้งจำเลยที่ 3 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของห้างไม่เคยสอดเข้าเกี่ยวข้องในกิจการของห้างจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 254,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 17,495.50 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 3 และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับเหมาก่อสร้างทั่วไป มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 มีภูมิลำเนาอยู่แห่งเดียวกัน สำหรับจำเลยที่ 4 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นประการแรกว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 4 ได้สั่งซื้อสินค้าพิพาทจากโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่าลายมือชื่อในช่องผู้รับบิลในใบวางบิลเอกสารหมาย จ.4 ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ทั้งในการอ้างส่งใบวางบิลต่อศาล โจทก์มิได้แนบใบส่งของอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ต่อศาล พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าพิพาทจากโจทก์ เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการรับเหมาก่อสร้างทั่วไป สินค้าพิพาทที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 กับพวกสั่งซื้อจากโจทก์ล้วนแต่เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ทั้งโจทก์ยังมีนายถาวรหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์มาเบิกความยืนยันถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยมีใบวางบิล เอกสารหมาย จ.4 เป็นพยานสนับสนุน ซึ่งตามใบวางบิลเอกสารหมาย จ.4 ระบุชื่อผู้รับบิลว่า “อุบลศรีสัมพันธ์” ซึ่งเป็นชื่อส่วนหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาลายมือชื่อในช่องผู้รับบิลในใบวางบิล เอกสารหมาย จ.4 แล้วเป็นการเขียนแบบย่อด้วยตัวอักษร ส. เพียงตัวเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อในช่องผู้แต่งทนายความในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ก็พบว่ามีลักษณะการเขียนตัวอักษร ส. ที่คล้ายคลึงกัน ตัวจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าในการดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 นั้นโดยปกติจำเลยที่ 2 จะมอบหมายให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการแทน อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เคยติดต่อสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ในนามส่วนตัวหลายครั้ง แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 4 เคยติดต่อค้าขายหรือเป็นผู้เคยค้ากันมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าโจทก์จะทำหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าสินค้า หรือเป็นเรื่องของการระบุชื่อลูกค้าในใบวางบิลผิด ส่วนประเด็นเรื่องใบส่งของนั้น ไม่ปรากฏว่าในการซื้อขายสินค้าพิพาทมีการออกใบส่งของแยกต่างหากตามที่ฝ่ายจำเลยอ้างแต่ประการใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 4 สั่งซื้อสินค้าพิพาทจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าสินค้าพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการก็ต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 เป็นประการต่อไปว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้นแม้จะฟังว่าจำเลยที่ 4 เข้าไปดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1 ก็หามีผลให้จำเลยที่ 4 กลายเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ด้วย และแม้จำเลยที่ 4 จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนกับชื่อของห้างจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือนเป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share