คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีปกครองซึ่งไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมก่อนมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 12 วรรคสอง โดยต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อน และศาลต้องแนะนำโจทก์ให้แจ้งต่อศาลปกครองด้วยว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หากโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากโจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลระบบอื่นที่มีอำนาจ หากศาลในคดีหลังเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจ ศาลนั้นก็ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 12 วรรคสอง ต่อไปเสียก่อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีลักษณะเป็นคดีปกครอง แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้สอบถามโจทก์เสียก่อนว่าโจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องหรือไม่ หากโจทก์ยังไม่เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ศาลต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าวว่าให้โจทก์แจ้งต่อศาลปกครองว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว ครั้นเมื่อโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมในการผลิตอาหารสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ใช้น้ำจากบ่อน้ำบาดาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารตั้งแต่ปี 2516 ต่อมาจำเลยทั้งสองสั่งโจทก์ให้ใช้น้ำบาดาลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่เห็นว่าพื้นที่ใดการประปาเข้าถึงหรือสามารถเชื่อมต่อกับระบบประปาได้แล้วจะไม่อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลอีก หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย วันที่ 30 กันยายน 2546 โจทก์จึงยื่นแบบคำขอติดตั้งน้ำประปาต่อสำนักงานประปาสามพรานเพื่อติดตั้งน้ำประปายังภูมิลำเนาของโจทก์ ณ บ้านเลขที่ 42/2 หมู่ที่ 2 ถนนเพชรเกษม ซอยเทศบาล 9 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้นโจทก์ทราบจากเจ้าหน้าที่สำนักงานการประปาสามพรานว่าการประปาส่วนภูมิภาคไม่เคยมีโครงการจ่ายน้ำประปาเข้าไปในซอยเทศบาล 9 ดังกล่าว ส่งผลให้โจทก์ไม่สามารถเลิกหรือหยุดการใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลของโจทก์ได้ ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองให้โจทก์ใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลของโจทก์ได้ต่อไปจนกว่าสำนักงานประปาสามพรานจะติดตั้งหรือเชื่อมท่อส่งน้ำประปาขนาด 4 นิ้วฟุต 2 ท่อ ให้โจทก์แล้วเสร็จ และห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใดอันเป็นการรบกวนการใช้น้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องแล้ว เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีลักษณะเป็นคดีปกครองซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จึงไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีปกครองซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ก่อนมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้ว และศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 12 วรรคสอง กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรกและศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อน และศาลต้องแนะนำโจทก์ให้แจ้งต่อศาลปกครองด้วยว่า เคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้ว และศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หากโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากโจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลระบบอื่นที่มีอำนาจหากศาลในคดีหลังเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจ ศาลนั้นก็ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 12 วรรคสอง ต่อไปเสียก่อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีลักษณะเป็นคดีปกครอง แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้สอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องหรือไม่ หากโจทก์ยังไม่เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ศาลต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าวด้วยว่าให้โจทก์แจ้งต่อศาลปกครองว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้ว และศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันที โดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว ครั้นเมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 และคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามนัยดังกล่าวข้างต้นแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share