คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งโจทก์ส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ก. เป็นเอกสารราชการ นอกจากนี้ ส. กรรมการโจทก์ได้ลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง เอกสารดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น เมื่อโจทก์ไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจาก ส. กรรมการโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกันกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กันโดยจำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้ จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับเครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ดีตามปกติ การกระทำของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีความผิดฐานรับของโจร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 357, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการโรงงาน จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถส่งสินค้า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ถอดเครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักรในโรงงานของโจทก์ออกไปจนไม่สามารถผลิตสินค้าได้ โดยใช้ให้จำเลยที่ 2 ขับรถนำอุปกรณ์ชิ้นส่วนนั้นไปฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ปัญหาว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรหรือไม่ โดยที่โจทก์ฎีกาว่า จเลยที่ 1 มิใช่ผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินปันผล และไม่อาจอ้างเป็นเหตุลักทรัพย์โจทก์เพื่อต่อรองให้โจทก์แบ่งผลกำไรให้นั้น เห็นว่า ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งโจทก์ส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เป็นเอกสารราชการ นอกจากนี้นางเสาวคนธ์ กรรมการโจทก์ได้ลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง เอกสารดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนบุตรสาวของนางเสาวคนธ์ กรรมการโจทก์ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว คงมีเพียงนางเสาวคนธ์เท่านั้นมานำสืบลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนัก ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจากนางเสาวคนธ์กรรมการโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกันกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กัน โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับ เครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ดีตามปกติ การกระทำเช่นนี้ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีความผิดฐานรับของโจร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยทั้งสามชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share