คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามข้อกำหนดแห่งสัญญากำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่างวดตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือว่าจำเลยผิดสัญญาและสัญญายกเลิกทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว แต่จำเลยชำระค่างวดรวม 24 งวด เกินกำหนดระยะเวลาและเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามข้อกำหนดในสัญญาเกือบทุกงวด โจทก์ก็รับไว้ทุกงวด ไม่เคยปฏิเสธการชำระค่างวดทุกงวดที่เกินกำหนดแม้โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยภายหลังที่จำเลยชำระค่างวดไป 22 งวด แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยนำเงินค่างวดงวดที่ 23 และ 24 ไปชำระให้แก่โจทก์ หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยเพียง 1 สัปดาห์ โจทก์ก็รับไว้โดยไม่อิดเอื้อน ย่อมแสดงว่า ในทางปฏิบัติต่อกันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่างวดเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงจะนำเหตุแห่งข้อกำหนดในสัญญามาเป็นข้ออ้างสัญญาเลิกต่อกันทันทีเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญามิได้ กรณีต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 โดยหากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาโจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรและบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่างวดสุดท้ายภายในระยะเวลานั้น หากจำเลยไม่ปฏิบัติโดยไม่มีเหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธ โจทก์จึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ศาลมีอำนาจที่จะรับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดมาเป็นเหตุยกฟ้องเพราะโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้ หาเป็นการพิจารณาหรือพิพากษานอกประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การโดยไม่ชอบไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยสมบูรณ์ กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์จำนวน 59,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยได้ชำระค่างวดตามสัญญาให้แก่โจทก์แล้ว 24 งวด ยังคงค้างชำระงวดสุดท้าย จำนวน 1,134,125 บาท ซึ่งมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องจัดการหาสถาบันการเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้จำเลยกู้ยืมเพื่อนำเงินมาชำระราคาในงวดสุดท้ายให้แก่โจทก์ แต่โจทก์มิได้จัดหาสถาบันการเงินให้แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 235735 ตำบลแพรกษา (แพรกตาสา) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมอาคารในที่ดินดังกล่าว ฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2539 ในราคา 1,509,125 บาท จากโจทก์โดยมีข้อกำหนดให้จำเลยชำระเงินในวันจองจำนวน 15,000 บาท ส่วนราคาที่เหลือกำหนดให้ชำระเป็นรายงวดทุกวันที่ 5 ของเดือน งวดที่ 1 ภายในวันที่ 5 กันยายน 2539 งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 24 ชำระงวดละ 15,000 งวดที่ 25 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายจำนวน 1,134,125 บาท ภายในวันที่ 5 กันยายน 2541 หลังจากทำสัญญาแล้ว จำเลยชำระค่างวดรวม 24 งวด โดยชำระเกินกำหนดเวลาและเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามข้อกำหนดในสัญญาข้อ 4 เกือบทุกงวด แต่โจทก์ก็รับไว้ทุกงวด ซึ่งขณะจำเลยชำระงวดที่ 22 แล้ว โจทก์ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 3 กันยายน 2542 บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันโดยโจทก์ไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อกำหนดแห่งสัญญา ข้อ 1 ข้อ 4 และข้อ 10 กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่างวดตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือว่าจำเลยผิดสัญญาและสัญญายกเลิกทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยมีต่อกันขณะทำสัญญา แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นยุติข้างต้น โจทก์ไม่เคยปฏิเสธการชำระค่างวดทุกงวดที่เกินกำหนด และที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือ แม้โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยภายหลังที่จำเลยชำระค่างวดไป 22 งวด แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยนำเงินค่างวดงวดที่ 23 และ 24 ไปชำระให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยเพียง 1 สัปดาห์ โจทก์ก็รับไว้โดยไม่อิดเอื้อน ข้อเท็จจริงนี้ย่อมแสดงอยู่ชัดแจ้งว่า ในทางปฏิบัติต่อกันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่างวดเป็นสาระสำคัญ โจทก์จึงจะนำเหตุแห่งข้อกำหนดในสัญญามาเป็นข้ออ้างว่าสัญญาเลิกต่อกันทันทีเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามข้อสัญญาข้อ 1 และข้อ 10 มิได้ กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โดยหากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญา โจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร และบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่างวดสุดท้ายภายในระยะเวลานั้น หากจำเลยไม่ปฏิบัติโดยไม่มีเหตุที่จะยกขึ้นปฏิเสธ โจทก์จึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาโดยมีหนังสือบอกเลิกสัญญา เป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายให้สิทธิแก่โจทก์ และศาลมีอำนาจที่จะรับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องเพราะโจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้หาเป็นการพิจารณาหรือพิพากษานอกประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การโดยไม่ชอบดังที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share