คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามเป็นผู้แต่งทนายความให้เข้ามาว่าความด้วยตนเอง ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความโดยอ้างว่าความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบจำเลยทั้งสามว่ามีความเห็นไม่ตรงกับทนายความอย่างไร และไม่ประสงค์จะให้เป็นทนายความต่อไปหรือไม่ ปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสามมิได้ฝ่าฝืนก็ยังคงทำหน้าที่เป็นทนายจำเลยทั้งสามต่อไป จนกระทั่งวันนัดสืบพยานโจทก์ทนายจำเลยทั้งสามไม่ได้มาศาลแต่มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นต่อศาลขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานโจทก์มาศาลพร้อมแล้ว จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งสามถอนตัวจากการเป็นทนายความ แล้วให้สืบพยานโจทก์ที่มาศาล 2 ปากโดยไม่มีทนายจำเลยทำหน้าที่ถามค้าน จึงเป็นการไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งสามต่อสู้คดีได้เต็มที่ ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบ ประกอบกับการที่ทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความมาแล้ว 2 ครั้ง ยังไม่มีลักษณะเป็นการประวิงคดี แม้ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งสามถอนตัวจากการเป็นทนายความ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะต้องเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ที่มาศาล 2 ปากนั้นไปก่อนหรือเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะเรียกพยานโจทก์ทั้งสองปากมาในวันนัดสืบพยานจำเลยโดยให้โอกาสทนายจำเลยทั้งสามถามค้านตามคำร้องขอของทนายจำเลยทั้งสาม แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุที่จะเรียกพยานโจทก์ทั้งสองปากมาให้ทนายจำเลยทั้งสามปากถามค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์โดยเรียกพยานโจทก์ทั้งสองปากมาศาลเพื่อให้ทนายจำเลยทั้งสามถามค้านพยานโจทก์ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและสั่งงดสืบพยานจำเลยที่เหลือ และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาโดยให้จำเลยทั้งสามถามค้านพยานโจทก์และสืบพยานจำเลยทั้งสามแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสามเป็นผู้แต่งทนายความเข้ามาเป็นผู้ดำเนินคดีแทนด้วยตนเอง ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ โดยอ้างว่าความคิดเห็นไม่ตรงกัน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ถอนตัว โดยให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ที่มาศาลปากเดียวไปก่อนแต่ไม่จบคำเบิกความแล้วให้เลื่อนคดีไป วันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่สองในวันที่ 11 กันยายน 2544 ศาลสืบพยานโจทก์โดยให้ทนายจำเลยทั้งสามถามค้านพยานที่เลื่อนมาจนจบปาก และโจทก์นำพยานเข้าสืบต่ออีก 1 ปาก แล้วให้เลื่อนคดีไป วันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่สามในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ทนายจำเลยทั้งสามไม่ได้มาศาล แต่มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นต่อศาลขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าความเห็นไม่ตรงกันอีก ศาลสอบจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องทนายความขอถอนตัว จำเลยที่ 1 แถลงว่าได้รับแจ้งจากทนายจำเลยทั้งสามในวันดังกล่าวเวลา 11 นาฬิกา โดยให้ญาติไปติดต่อทนายความแล้ว แต่ญาติและทนายความไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งสามถอนตัวจากการเป็นทนายความโดยให้สืบร้อยตำรวจเอกสุทัด คำทอน และพันตำรวจตรีเทียนชัย เลิศมณีทวีทรัพย์ พยานโจทก์ที่มาศาล 2 ปาก จนแล้วเสร็จ พนักงานอัยการโจทก์แถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยตามวันเวลาที่นัดไว้เดิม และกำชับให้จำเลยทั้งสามจัดหาทนายความคนใหม่มาในวันนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 25 ตุลาคม 2544 แต่ปรากฏว่าวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องต่อศาลว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์คราวที่เลื่อนมาโจทก์ได้นำร้อยตำรวจเอกสุทัดและพันตำรวจตรีเทียนชัย พยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเข้าสืบโดยทนายจำเลยทั้งสามไม่ได้มีโอกาสถามค้านทำให้เสียเปรียบในรูปคดี เมื่อศาลไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งสามถอนตัว ทนายจำเลยทั้งสามจึงต้องดำเนินคดีในฐานะทนายจำเลยทั้งสามต่อไป จึงขออนุญาตศาลได้เรียกพยานมาในวันนัดสืบพยานจำเลยเพื่อเปิดโอกาสให้ทนายจำเลยทั้งสามถามค้านพยานโจทก์ทั้งสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “การสืบพยานดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเรียกมาให้ทนายจำเลยทั้งสามถามค้านพยานอีก” ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสามเป็นผู้แต่งทนายความให้เข้ามาว่าความด้วยตนเอง ในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกทนายจำเลยทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความโดยอ้างว่าความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบจำเลยทั้งสามว่ามีความเห็นไม่ตรงกับทนายความอย่างไร และไม่ประสงค์จะให้เป็นทนายความต่อไปหรือไม่ ปรากฏว่าทนายจำเลยทั้งสามมิได้ฝ่าฝืนก็ยังคงทำหน้าที่เป็นทนายจำเลยทั้งสามต่อไป จนกระทั่งวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ทนายจำเลยทั้งสามไม่ได้มาศาลแต่มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นต่อศาลขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ ศาลชั้นต้นเพียงสอบตัวจำเลยที่ 1 ผู้เดียวในเรื่องที่ทนายจำเลยทั้งสามขอถอนตัว จำเลยที่ 1 แถลงว่าได้ให้ญาติไปติดต่อทนายความแล้ว แต่ญาติและทนายความไม่มาศาล ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามต้องการจะให้มีทนายความเข้ามาดำเนินคดีและมิได้คัดค้านที่จะให้ทนายจำเลยทั้งสามคนเดิมถอนตัวจากการเป็นทนายความแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานโจทก์มาศาลพร้อมแล้ว จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งสามถอนตัวจากการเป็นทนายความ แล้วให้สืบพยานโจทก์ที่มาศาล 2 ปาก โดยไม่มีทนายจำเลยทำหน้าที่ถามค้าน จึงเป็นการไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งสามต่อสู้คดีได้เต็มที่ ทำให้จำเลยทั้งสามเสียเปรียบประกอบกับการที่ทนายจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความมาแล้ว 2 ครั้ง โดยเหตุผลอย่างเดียวกันว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ตามพฤติการณ์ยังไม่มีลักษณะเป็นการประวิงคดี แม้ศาลชั้นต้นจะไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งสามถอนตัวจากการเป็นทนายความก็ตาม ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ที่มาศาล 2 ปากนั้นไปก่อนในกรณีหนึ่ง หรือเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะเรียกพยานโจทก์ทั้งสองปากมาในวันนัดสืบพยานจำเลย โดยให้โอกาสทนายจำเลยทั้งสามถามค้านพยานทั้งสองปากนี้ตามคำร้องขอของทนายจำเลยทั้งสามฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ได้อีกกรณีหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุที่จะเรียกพยานโจทก์ทั้งสองปากมาให้ทนายจำเลยทั้งสามถามค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์โดยให้เรียกร้อยตำรวจเอกสุทัดและพันตำรวจตรีเทียนชัย มาศาลเพื่อให้ทนายจำเลยทั้งสามถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปาก ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อให้ทนายจำเลยทั้งสามถามค้านพยานโจทก์ดังกล่าวแล้ว อาจทำให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้งสามได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เห็นควรให้จำเลยทั้งสามสืบพยานจำเลยปากนายชำนาญ นวลผกา กับนางวรรณา จวงเจิม ด้วย โดยไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดีและสั่งงดสืบนายชำนาญกับนางวรรณา พยานจำเลยนั้น เป็นการชอบหรือไม่”
พิพากษายืน

Share