คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุขับรถยนต์ปิกอัพแซงปาดหน้าจะให้รถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 2 ขับมีจำเลยที่ 1 นั่งมาชนกำแพงคอนกรีตกลางถนนหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้ใช้อาวุธใดทำร้ายจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีอื่นอีก แม้ผู้ตายยังขับรถตามมาชนท้ายรถยนต์เก๋งในซอยซึ่งเป็นซอยตัน แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 เปิดประตูรถยนต์เก๋งลงไปยิงผู้ตายนั้น ผู้ตายยังนั่งอยู่ในรถยนต์ปิกอัพ จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายช่วงแรก 2 นัดจนกระสุนปืนหมดแล้วกลับไปเอาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2ซึ่งเก็บไว้ในรถยนต์เก๋งวิ่งอ้อมท้ายรถยนต์ปิกอัพไปยิงผู้ตายถูกที่ด้านขวาของลำตัวถึง 5 นัด การยิงในช่วงหลัง จำเลยที่ 1ย่อมมีเวลาใคร่ครวญตั้งสติได้แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรแก่เหตุ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายนายวิเชียร เบญจวรรณ ผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาฆ่า ถูกที่บริเวณใบหน้า ลำตัว ด้านหลัง ต้นแขนและหน้าอก จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 2 พาอาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม.หมายเลขทะเบียน กท.885909 ซองบรรจุกระสุนปืน 1 ซองกระสุนปืนขนาด 9 มม. 8 นัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจากนายทะเบียนและเป็นของจำเลยที่ 2 ติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 288,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางอุบล เบญจวรรณ มารดาผู้ตาย และเด็กชายสหรัฐ เบญจวรรณหรือโซ๊ะประสิทธิ์ บุตรผู้ตายโดยนางนงนุช โซ๊ะประสิทธิ์หรือเบญจวรรณ ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้เรียกนางอุบลว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และเรียกเด็กชายสหรัฐว่า โจทก์ร่วมที่ 2

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 จำคุก2 ปี ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ริบของกลางยกเว้นอาวุธปืนขนาด 9 มม. หมายเลขทะเบียนกท.885909 พร้อมซองหนัง 1 ซอง กระสุนปืนขนาด 9 มม.3 นัด ซองบรรจุกระสุนปืน 1 ซอง และปลอกกระสุนปืน ขนาด9 มม. 5 ปลอก ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ

โจทก์ โจทก์ร่วมที่ 1 และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษปรับ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมใช้อาวุธปืนยิงนายวิเชียร เบญจวรรณ ผู้ตายตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่อย่างใด คดีจึงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า การที่จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นการกระทำเพื่อป้องกัน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 เพียงว่า การที่จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้นเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่

ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 คบกับผู้ตายแบบคู่รัก และเคยลงทุนรับเหมาถมดินร่วมกัน จำเลยทั้งสองแต่งงานกันก่อนเกิดเหตุ 3 วัน วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 11 นาฬิกาจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋ง จำเลยที่ 1 นั่งที่เบาะด้านหน้าโดยจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนสั้นขนาด .38 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวและได้รับใบอนุญาตให้พาอาวุธปืนติดตัว จำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม.ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปด้วย จำเลยทั้งสองเบิกเงินจากธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) สาขาปทุมธานี แล้วจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋งไปตามถนนติวานนท์ มุ่งหน้าไปห้าแยกปากเกร็ด ขณะนั้นผู้ตายขับรถยนต์ปิกอัพ โดยมีนางนงนุช โซ๊ะประสิทธิ์ ภริยาผู้ตายอุ้มโจทก์ร่วมที่ 2 ขณะเกิดเหตุอายุ 2 ปีเศษ นั่งที่เบาะด้านหน้านางมุทิตา ละโบ้ น้านางนงนุชนั่งอยู่เบาะหลัง ผู้ตายซึ่งขับรถยนต์ปิกอัพอยู่ด้านหลังได้ขับแซงทางด้านซ้ายแล้วปาดหน้ารถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 2 ขับเพื่อให้ชนกำแพงคอนกรีตกลางถนน จำเลยที่ 2ชะลอความเร็วให้รถยนต์ปิกอัพแซงไป แต่ผู้ตายขับรถยนต์ปิกอัพปาดหน้าหลายครั้งจนรถยนต์ปิกอัพขวางหน้ารถยนต์เก๋งทำให้จำเลยที่ 2 ต้องขับรถยนต์เก๋งถอยหลังออกมา จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนสั้นยิงไปที่ยางรถยนต์ปิกอัพ 2 ถึง 3 นัด กระสุนปืนถูกล้อหลังด้านขวาเป็นเหตุให้ยางแตก จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์เก๋งหนีเข้าไปในถนนซอย ปรากฏว่าเป็นทางตันมีรั้วสังกะสีขวางอยู่จำเลยที่ 2 ลงจากรถไปที่รั้วสังกะสี ผู้ตายขับรถยนต์ปิกอัพตามมาชนท้ายรถยนต์เก๋งอย่างแรง จำเลยที่ 1 จึงลงจากรถแล้วใช้อาวุธปืนสั้นของจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายซึ่งยังนั่งอยู่ในรถยนต์ปิกอัพ 2 นัด จนกระสุนปืนหมด แล้วจำเลยที่ 1 เอาอาวุธปืนสั้นของจำเลยที่ 2 ซึ่งเก็บไว้ในรถยนต์เก๋งมายิงผู้ตายอีกหลายนัดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในรถยนต์ปิกอัพโดยมีบาดแผลถูกกระสุนปืนเป็นทางเข้าที่ขมับซ้าย 1 นัด และทางด้านขวาของลำตัว 5 นัด ตามรายงานการตรวจศพเอกสารหมาย ป.จ.9(ศาลอาญากรุงเทพใต้) ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายเคยมุ่งหมายจะเอาชีวิตจำเลยที่ 1 โดยขู่จะฆ่าตบตีและใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะจำเลยที่ 1 มาก่อน วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ปิกอัพเป็นการปรามไม่ให้ผู้ตายขับรถติดตามแล้วแต่ผู้ตายยังขับรถยนต์ปิกอัพติดตามมาชนท้ายรถยนต์เก๋งทั้งที่รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืน แสดงว่าผู้ตายต้องมีอาวุธปืนหรืออาวุธที่เหนือกว่า เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าผู้ตายจะลงจากรถยนต์ปิกอัพมาฆ่า จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหลายนัด เป็นการยิงอย่างต่อเนื่องในภาวะที่ตกใจกลัว จึงเป็นการกระทำไปพอสมควรแก่เหตุนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และนายฮารีม อาดำ พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 3 เดือน จำเลยที่ 1 และนายฮารีมไปพบผู้ตายที่บ้านเพื่อตกลงเรื่องการแบ่งเงิน โดยนายฮารีมรออยู่นอกบ้าน ผู้ตายทำร้ายและใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะจำเลยที่ 1นายฮารีมได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 หวีดร้อง จึงเข้าไปห้าม จำเลยที่ 1ถูกทำร้ายฟกช้ำ พักรักษาอยู่ที่บ้านไม่ได้ไปโรงพยาบาล ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 แตกต่างจากที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.3 (ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ที่ว่า ผู้ตายทำร้ายจำเลยที่ 1 จนได้รับบาดเจ็บรักษาตัวในโรงพยาบาล และจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ผู้ตาย เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไปพบผู้ตายโดยไม่มีพยานช่วยยืนยันพยานจำเลยที่ 1 ให้ข้อนี้เป็นพิรุธ ถ้าผู้ตายมุ่งหมายจะเอาชีวิตจำเลยที่ 1 โดยมีอาวุธปืนในมือ ย่อมมีโอกาสจะกระทำได้ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ไปพบผู้ตายแล้ว แม้ในวันเกิดเหตุผู้ตายจะเป็นฝ่ายก่อเหตุขับรถยนต์ปิกอัพแซงปาดหน้าจะให้รถยนต์เก๋งที่จำเลยที่ 1 นั่งมาชนกำแพงคอนกรีตกลางถนนหลายครั้งก็ไม่ปรากฏว่าผู้ตายจะใช้อาวุธใดทำร้ายจำเลยที่ 1 หรือจะทำร้ายจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีอื่นอีก การที่ผู้ตายยังขับรถยนต์ปิกอัพตามมาชนท้ายรถยนต์เก๋งในซอยทั้งที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ปิกอัพแล้ว แม้จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าผู้ตายจะตามมาทำร้ายดังที่อ้าง แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 เปิดประตูรถยนต์เก๋งลงไปยืนที่พื้นข้างประตูรถด้านที่จำเลยที่ 1 นั่งและใช้อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1พาติดตัวมายิงผู้ตายนั้น ผู้ตายก็ยังนั่งอยู่ในรถยนต์ปิกอัพ จำเลยที่ 1ยิงผู้ตายช่วงแรก 2 นัด จนกระสุนปืนหมดแล้วกลับเข้าไปในรถยนต์เก๋งเอาอาวุธปืนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเก็บไว้ในรถวิ่งอ้อมท้ายรถยนต์ปิกอัพไปยืนที่ข้างประตูรถด้านที่ผู้ตายนั่ง แล้วใช้อาวุธปืนของจำเลยที่ 2ยิงผู้ตายอีกหลายนัด จนผู้ตายถูกกระสุนปืนที่ด้านขวาของลำตัวถึง 5 นัด การยิงผู้ตายในช่วงหลัง จำเลยที่ 1 ย่อมมีเวลาใคร่ครวญตั้งสติได้แล้ว ทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายในช่วงหลังนั้น ผู้ตายก็ยังนั่งอยู่ในรถยนต์ปิกอัพ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายจะทำอันตรายใดแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรแก่เหตุ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share