คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14806/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมิได้ตกลงยกเว้นความใน ป.พ.พ. มาตรา 733 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดหลังจากการบังคับจำนอง และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยตามมาตรา 698 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,021,845.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 828,943.6 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,021,845.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 828,943.56 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กันยายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2375 ตำบลสามขา อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องร่วมกันรับผิดในมูลหนี้การกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน 6,000 บาท กับจำเลยที่ 1 แต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 900,911.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงิน 822,943.56 บาท ในอัตราร้อยละ 8.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2544 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2544 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2545 ร้อยละ 7.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ยืมและหนี้ตามสัญญาจำนอง และมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำหนี้แก่โจทก์ เป็นการฟ้องร้องบังคับจำนอง เมื่อสัญญาจำนองตามฟ้องไม่มีข้อความว่าหากโจทก์บังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดจำนวนอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 698 ไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดในส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 นอกจากนี้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,021,845.09 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามอุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดจำนวนหนี้ไม่เกิน 88,000 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามจึงมีเพียง 933,845.09 บาท แต่จำเลยทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จากทุนทรัพย์ 1,021,845.09 บาท จึงไม่ถูกต้อง เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดนั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสาม

Share