คำวินิจฉัยที่ 100/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินในค่ายธนะรัชต์ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ เพื่อทำการเกษตรปลูกต้นไม้สักทองตามสัญญาบนที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ตัดไม้สักทองที่ปลูกไว้ตามสัญญาไปบางส่วนเจ้าหน้าที่ทหารมีหนังสือแจ้งระงับการตัดไม้สักทองกับทำการตรวจยึดรถยนต์บรรทุกพ่วงพร้อมท่อนไม้สักทองและแจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหาตัดไม้ในเขตพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารมีหนังสือแจ้งให้ระงับการตัดไม้สักทองที่พิพาท และได้ทำการตรวจยึดรถยนต์บรรทุกพ่วงพร้อมท่อนไม้สักทอง รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหาตัดไม้ในเขตพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตต์ปลอดภัยในราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๘ ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดยักย้ายต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้วอันมีสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกระทรวงกลาโหม และตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ แต่งตั้งจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารให้มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน จับกุม ปราบปรามผู้กระทำความผิดและยึดของกลางตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามจึงมีอำนาจในการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินคดีอาญาในข้อหาตัดไม้ในเขตพื้นที่ทหาร การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นกรณีพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๐/๒๕๕๗

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ บริษัทวีรวรรณการเกษตร จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง กองทัพบก ที่ ๑ พลตรี อภิชัย หงษ์ทอง ที่ ๒ พันโท สุทธิศักดิ์ พรรคเจริญ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๐๘๓/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินในพื้นที่ค่ายธนะรัชต์กับผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ ๑๐,๐๐๐ ไร่ เพื่อปลูกไม้ยืนต้นชนิดโตเร็ว ประเภทยูคาลิปตัส สนประดิพัทธ์ กระถินยักษ์และกระถินณรงค์และทำการเกษตร โดยเงื่อนไขแนบท้ายสัญญาในข้อ ๔ กำหนดให้โจทก์ต้องปลูกไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ ในอัตราร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่เช่า ภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่า ๓ ปี ซึ่งโจทก์ได้ดำเนินการปลูกไม้ประเภทยูคาลิปตัสและไม้สักทองบนเนื้อที่ประมาณ ๗๒๐ ไร่ โดยโจทก์แบ่งให้ศูนย์การทหารราบบางส่วนคงเหลือต้นไม้สักทองของโจทก์เนื้อที่ ๒๕๐ ไร่ ต่อมาปี ๒๕๕๓ โจทก์ขอขึ้นทะเบียนสวนป่าเพื่อดำเนินการตัดไม้สักทองดังกล่าวแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากศูนย์การทหารราบไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ให้เช่าแต่เป็นที่ราชพัสดุ โจทก์จึงขอเช่าจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อตัดต้นไม้สักทองในที่ดินพิพาท ต่อมาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อนุญาตให้โจทก์เช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดว่าสัญญาเช่าครั้งแรกมีกำหนด ๓ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ และมีหนังสือแจ้งการเช่าที่ดินดังกล่าวไปยังผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบเพื่อทราบ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบอนุญาตให้ตัดไม้สักทองได้ โจทก์ได้เริ่มดำเนินการตัดไม้สักทองบางส่วนในพื้นที่เช่าเรื่อยมา ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กลั่นแกล้งโจทก์โดยจำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งให้ระงับการตัดไม้สักทองในพื้นที่ราชพัสดุเพื่อตรวจสอบสัญญาเช่าของโจทก์ว่าเป็นไปตามกฎกระทรวง พุทธศักราช ๒๕๑๙ ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พุทธศักราช ๒๕๑๘ ข้อ ๑๐ หรือไม่ การปฏิบัติใดๆ จะต้องได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ ๑ ทุกกรณี จำเลยที่ ๒ ได้มอบหมายให้จำเลยที่ ๓ กับพวกได้ทำการตรวจยึดรถยนต์บรรทุกพ่วงที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้มาบรรทุกท่อนไม้สักทองพร้อมท่อนไม้สักทองของโจทก์จำนวน ๘,๑๓๓ ท่อน รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหาตัดไม้ในเขตพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๑ โดยมุ่งหวังจะให้โจทก์จ่ายเงินสินบนให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แม้ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๒ ให้ทราบว่าสัญญาเช่าที่ราชพัสดุที่โจทก์ทำกับธนารักษ์พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น ชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยไม่ยอมคืนท่อนไม้สักทองที่ยึดไว้ให้แก่โจทก์ และไม่ยอมให้โจทก์เข้าไปดำเนินการตัดต้นไม้สักทองในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งไม่ไปดำเนินการถอนคำร้องทุกข์ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๓๓,๗๐๙,๔๑๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์และค่าปรับซึ่งโจทก์ต้องเสียแก่กรมธนารักษ์
ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เนื่องจากต้องห้ามตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้อนุมัติให้ปลูกป่าในพื้นที่ศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๔ โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจำนวน ๑๐,๐๐๐ ไร่ มีกำหนดเวลา ๓ ปี เพื่อการเกษตรกับศูนย์ทหารราบตามโครงการดังกล่าว ในสัญญาข้อ ๔ กำหนดให้ผู้เช่าต้องปลูกป่าประเภทไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ ร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่ที่เช่าคือ ๑,๐๐๐ ไร่ กรรมสิทธิ์ในไม้หวงห้ามที่ปลูกดังกล่าวย่อมตกเป็นของจำเลยที่ ๑ โจทก์สามารถตัดได้เฉพาะไม้ประเภทยูคาลิปตัส สนประดิพัทธ์ กระถินยักษ์ และกระถินณรงค์ ตามสัญญาเช่าข้อที่ ๑ ดังกล่าว ที่ดินที่โจทก์เช่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ราชพัสดุโฉนด น.ส.ล เลขที่ ๑๘๑๙/๒๕๐๗ ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังมอบให้ศูนย์การทหารราบใช้ในราชการทหารและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตั้งค่ายธนะรัชต์ หลังจากครบกำหนดสัญญาเช่า โจทก์และศูนย์การทหารราบได้ตกลงต่อสัญญาเช่าออกไปอีก ๔ ครั้ง สัญญาเช่าจึงสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ โจทก์ได้ปลูกไม้สักทองตามเงื่อนไขท้ายสัญญาข้อ ๔ ในพื้นที่จำนวน ๗๑๙ ไร่ ๓ งาน ๘๗ ตารางวา จึงยังไม่ครบตามกำหนดสัญญาเช่า ส่วนพื้นที่ที่โจทก์ปลูกไม้สักทองจำนวน ๒๕๐ ไร่ ที่โจทก์ขอเช่าจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์และนำไปขึ้นทะเบียนสวนป่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตามเงื่อนไขท้ายสัญญาข้อ ๔ ไม้สักทองที่ปลูกจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ หลังจากสิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ โจทก์ได้ขอเช่าที่ราชพัสดุซึ่งเป็นพื้นที่บางส่วนของที่พิพาทเพื่อทำการตัดต้นไม้สักทองเนื้อที่ ๒๕๐ ไร่ ธนารักษ์พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ได้มีหนังสือสอบถามเรื่องโจทก์ขอเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นการชั่วคราวเพื่อตัดต้นไม้สักทอง แต่ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจึงยินยอมให้โจทก์เช่าที่ดินเป็นการชั่วคราวเพื่อตัดไม้สักทองดังกล่าวโดยพลตรีสมวุฒิ แตงสาขา ผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบไม่มีอำนาจให้ความยินยอม และโจทก์ขอเช่าที่ราชพัสดุโดยมิได้แสดงหลักฐานสัญญาเช่าระหว่างศูนย์การทหารราบซึ่งระบุเงื่อนไขท้ายสัญญาเช่าข้อ ๔ ที่มีไม้สักทองอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงไม่มีสิทธิตัดและนำไม้สักทองไปใช้ประโยชน์ จำเลยที่ ๒ ได้ทำการตรวจสอบและแจ้งให้โจทก์หยุดการตัดและขนไม้สักทองเพื่อตรวจสอบการได้รับอนุญาตให้ตัดและขนไม้สักทองแต่โจทก์มิได้หยุดดำเนินการ จึงสั่งให้จำเลยที่ ๓ ทำการตรวจยึดรถยนต์บรรทุกพร้อมท่อนไม้สักทอง ๖๕๐ ท่อน และไม้สักทองบริเวณที่โจทก์เช่าอีก ๗,๕๐๐ ท่อน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ป่าไม้โดยตำแหน่งจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับโจทก์และยึดไม้สักทองดังกล่าวซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ไว้ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การแจ้งความดำเนินคดีกับโจทก์และพวกในความผิดฐานร่วมกันตัดต้นไม้สักทองในเขตปลอดภัยทางราชการทหารบกโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตต์ปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงเป็นเรื่องการดำเนินคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญา อันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม เมื่อคดีนี้โจทก์อ้างว่า ได้รับความเสียหายจากกรณีที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ใช้อำนาจยึดรถยนต์บรรทุกพ่วงและไม้สักทองของกลางและแจ้งความดำเนินคดีกับโจทก์และพวกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตต์ปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในไม้สักทองที่โจทก์ปลูกขึ้นในพื้นที่เช่า จำนวน ๒๕๐ ไร่ แต่จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้ว่า กรรมสิทธิ์ในไม้สักทองที่โจทก์ปลูกขึ้นในพื้นที่เช่านั้นตกเป็นของจำเลยที่ ๑ แล้ว ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่คู่ความยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในไม้สักทอง ซึ่งการที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าไม้สักทองเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้อพิพาทตามสัญญาเช่า แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่โต้แย้งกรรมสิทธิ์ในไม้สักทองที่พิพาทด้วย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ และจำเลยที่ ๓ ดำรงตำแน่ง ผู้บังคับกองพันศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จากข้อพิพาทเป็นกรณีที่โจทก์ได้เข้าไปมีนิติสัมพันธ์กับหน่วยงานทางปกครองโดยการได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินสาธารณะและมีการกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขการดำเนินการไว้ รวมทั้งมีการทำสัญญาให้ไว้ต่อกันทั้งกับหน่วยงานผู้ครอบครองพื้นที่ และหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ อันเป็นนิติสัมพันธ์ในทางกฎหมายปกครองมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กลับปฏิเสธไม่ให้โจทก์ได้ดำเนินการใช้สิทธิตามนิติสัมพันธ์ที่มีอยู่ต่อกันและที่มีกับหน่วยงานทางปกครองอื่น โดยกระทำการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจและยึดทรัพย์สินของโจทก์ ด้วยการอ้างกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหารตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารของที่ทหารในท้องที่อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ และหน่วยงานต้นสังกัดจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ให้การอนุญาตแก่โจทก์แล้ว ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อโต้แย้งการมีนิติสัมพันธ์ในทางกฎหมายปกครองกับจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อันมีลักษณะเป็นคดีพิพาททางปกครองนั่นเอง เมื่อโจทก์ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินในค่ายธนะรัชต์เพื่อปลูกไม้ยืนต้นชนิดโตเร็วและทำการเกษตรโดยมีเงื่อนไขท้ายสัญญากำหนดให้ปลูกไม้หวงห้ามตามกฎหมายในอัตราร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่เช่าจึงได้ปลูกต้นไม้สักทองบนเนื้อที่ประมาณ ๗๒๐ ไร่ ต่อมาโจทก์ได้ขอเช่าที่พิพาทจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์และขอขึ้นทะเบียนสวนป่าเพื่อตัดไม้สักทอง โดยผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบอนุญาตให้ตัดไม้สักทองที่พิพาทจึงเริ่มตัดไม้สักทองในพื้นบางส่วน จำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งระงับการตัดไม้สักทองและจำเลยที่ ๓ กับพวกได้ทำการตรวจยึดรถยนต์บรรทุกพ่วงพร้อมท่อนไม้สักทอง รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหาตัดไม้ในเขตพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์ขอเช่าจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ประจวบคีรีขันธ์และนำไปขึ้นทะเบียนสวนป่าเพื่อทำการตัดต้นไม้สักทองเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ ๑ ตามเงื่อนไขท้ายสัญญาไม้สักทองที่ปลูกจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายผู้บัญชาการศูนย์การทหารราบได้ยินยอมให้โจทก์เช่าที่ดินเป็นการชั่วคราวเพื่อตัดไม้สักทองดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจให้ความยินยอม โจทก์จึงไม่มีสิทธิตัดไม้สักทอง จำเลยที่ ๒ ได้แจ้งให้โจทก์หยุดการตัดและขนไม้สักทองแต่โจทก์มิได้หยุดดำเนินการจึงทำการตรวจยึดรถยนต์บรรทุกพร้อมท่อนไม้สักทองเพื่อดำเนินคดีอาญา จึงไม่เป็นละเมิดและโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งให้ระงับการตัดไม้สักทองที่พิพาท และจำเลยที่ ๓ กับพวกได้ทำการตรวจยึดรถยนต์บรรทุกพ่วงพร้อมท่อนไม้สักทอง รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีอาญาในข้อหาตัดไม้ในเขตพื้นที่ทหารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๑ เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตต์ปลอดภัยในราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๘ ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดยักย้ายต้นไม้ที่ปลูกไว้แล้วอันมีสภาพเป็นอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกระทรวงกลาโหม และตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ แต่งตั้งจำเลยทั้งสามให้มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน จับกุม ปราบปรามผู้กระทำความผิดและยึดของกลางตามกฎหมาย จำเลยทั้งสามจึงมีอำนาจในการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินคดีอาญาในข้อหาตัดไม้ในเขตพื้นที่ทหาร การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นกรณีพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทวีรวรรณการเกษตร จำกัด โจทก์ กองทัพบก ที่ ๑ พลตรี อภิชัย หงษ์ทอง ที่ ๒ พันโท สุทธิศักดิ์ พรรคเจริญ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share