แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับโอนกิจการมาจาก กสท. ยื่นฟ้องบริษัทเอกชน เรียกค่าเช่าจากการที่เอกชนร้อยสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ผ่านท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์จำนวน ๓๓ เส้นทาง เห็นว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะด้านโทรคมนาคม จำเลยที่ ๑ ได้นำสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ร้อยผ่านท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของ กสท. ซึ่งต่อมาโอนมาเป็นทรัพย์สินของโจทก์เพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ติดตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้น สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะด้านโทรคมนาคม จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ดังนั้นข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากการใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๔/๒๕๕๗
วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทโกลบอล ครอสซิ่ง เซอร์วิสซิส จำกัด ที่ ๑ บริษัทซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๕๓๖/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๓ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการให้บริการให้เช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงภายในประเทศ อันเป็นการให้บริการทางโครงข่ายคมนาคมในการรับส่งหรือเชื่อมต่อข้อมูลผ่านโครงข่ายเคเบิลระหว่างสองสถานที่หรือมากกว่า โดยเชื่อมโยงผ่านระบบสื่อสัญญาณโทรคมนาคมของ กสท. เพื่อประโยชน์ในการติดต่อหรือเชื่อมโยงระหว่างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการติดต่อสื่อสาร ซึ่ง กสท. ให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการให้บริการให้เช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงภายในประเทศโดยทางข่ายสายแก่บุคคลอื่นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จำเลยที่ ๑ ได้นำสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ร้อยผ่านท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของ กสท. ซึ่งเป็นผู้ติดตั้งไว้ก่อนมีการทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ เพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์โทรคมนาคมซึ่งติดตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ อันอยู่นอกเหนือสัญญาดำเนินการ แต่ด้วยเหตุที่จำเลยที่ ๑ อยู่ในฐานะผู้ร่วมทุนกับ กสท. จึงมิได้เรียกเก็บค่าใช้ทรัพย์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ โจทก์รับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและทรัพย์สินจาก กสท. โจทก์จึงเป็นคู่สัญญาและเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาที่พิพาทดังกล่าว รวมถึงท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของ กสท. และเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ สัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลง จำเลยที่ ๑ ประสงค์ให้บริการเช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงต่อไป โดยคงสภาพเครื่องและอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ดังเดิม จึงขอซื้อเครื่องและอุปกรณ์รวมอะไหล่วงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูง รวมถึงขอซื้อหุ้นที่โจทก์ถืออยู่ในบริษัทจำเลยที่ ๑ คืน โดยทรัพย์สินที่จำเลยที่ ๑ จัดหาและติดตั้งตามสัญญามีสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ที่ร้อยอยู่ในท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์จำนวน ๓๓ เส้นทาง โจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงตกลงซื้อขายทรัพย์สินตามรายการบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายสัญญาและชำระค่าตอบแทนให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้ว ซึ่งค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ได้รวมค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดิน หลังจากวันที่สัญญาดำเนินการสิ้นสุดลง จำเลยที่ ๑ ยังคงใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์จำนวน ๓๓ เส้นทาง ต่อมาจำเลยที่ ๑ แจ้งโจทก์ว่าได้โอนกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์สำหรับให้บริการให้เช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงขอเปลี่ยนคู่สัญญาจากจำเลยที่ ๑ เป็นจำเลยที่ ๒ซึ่งโจทก์ได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงคู่สัญญาดังกล่าวแล้ว และจำเลยที่ ๒ ได้ใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์เรื่อยมา เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์จึงมีหน้าที่ชำระค่าตอบแทนตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนด ตามระยะเวลาที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ใช้ประโยชน์ในท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระค่าใช้ประโยชน์ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดิน พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อัตราค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนมาซึ่งกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ เพื่อดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคมต่อไปแทนการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๖ ตามนโยบายของรัฐซึ่งนำทุนของรัฐวิสาหกิจมาแปลงเป็นหุ้นตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์จึงเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อพิจารณาลักษณะของสัญญารวมถึงสิทธิเรียกร้องที่โจทก์ใช้เป็นมูลเหตุฟ้องคดีนี้ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๖ ถึง ๙ แล้ว กรณีเป็นข้อพิพาทตามสัญญาเช่าทรัพย์หรือสัญญาให้บริการอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่สัญญาอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องในทางแพ่ง ดังนั้น แม้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจทางปกครอง สัญญาดังกล่าวก็ไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ และเปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยได้เปลี่ยนทุนของ กสท. เป็นหุ้นและโอนกิจการของ กสท. ในส่วนกิจการโทรคมนาคมไปเป็นของบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกประเภทเช่นเดิม ยังคงมีอำนาจทางปกครองและดำเนินกิจการทางปกครองตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ อีกทั้งมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังบัญญัติรับรองการดำเนินงานของโจทก์ไว้เป็นการเฉพาะจึงมีลักษณะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมเป็นสัญญาที่มีวัตถุแห่งสัญญาเป็นการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ในเครื่องมือสำคัญในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และเป็นวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้มีการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะด้านโทรคมนาคมเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น โดยสภาพของสัญญาจึงเห็นได้ว่า สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมเป็นสัญญาทางปกครอง มิใช่สัญญาทางแพ่งที่คู่สัญญาทำขึ้นบนพื้นฐานของเสรีภาพในการทำสัญญาแต่อย่างใด ข้อพิพาทในคดีนี้สืบเนื่องมาจากสัญญาดำเนินการให้เช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงภายในประเทศ ลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่จำเลยที่ ๑ ยังประสงค์จะดำเนินกิจการและต้องการใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์ด้วย ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองได้มีข้อตกลงให้ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโทรคมนาคมในส่วนที่เป็นท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดิน และโจทก์มีหนังสือเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้ประโยชน์ตามสัญญาหรือข้อตกลงให้ใช้ประโยชน์จากท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระโดยอ้างว่าการกำหนดอัตราค่าเช่าใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์ตามคำสั่งที่ ๖/๒๕๕๔ เรื่องอัตราค่าเช่าใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดิน ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นอัตราที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์อัตราที่อิงต้นทุน และการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนของโจทก์ตามคำสั่งดังกล่าวมิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองที่เป็นผู้ใช้โครงข่ายทราบล่วงหน้าอย่างน้อย ๙๐ วัน พร้อมแสดงหลักฐานหรือสาเหตุที่ทำให้เปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนดังกล่าว ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการและวิธีการตามข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ และข้อ ๒๑ ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าใช้ประโยชน์ในท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินให้แก่โจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองอีกเช่นเดียวกัน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑๑/๒๕๕๗
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ได้ทำสัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมโดยให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการให้บริการในการเช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงภายในประเทศเพื่อให้บริการทางโครงข่ายโทรคมนาคมในการรับส่งหรือเชื่อมต่อข้อมูลผ่านโครงข่ายเคเบิลในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการติดต่อสื่อสาร จำเลยที่ ๑ ได้นำสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ร้อยผ่านท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของ กสท. เพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์โทรคมนาคมซึ่งติดตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ อันอยู่นอกเหนือสัญญาดำเนินการ แต่ด้วยเหตุจำเลยที่ ๑ อยู่ในฐานะผู้ร่วมทุนกับ กสท. จึงมิได้เรียกเก็บค่าใช้ทรัพย์ ต่อมาโจทก์รับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและทรัพย์สินจาก กสท. โจทก์จึงเป็นคู่สัญญาและเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินรวมถึงท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดิน เมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงจำเลยที่ ๑ ประสงค์จะให้บริการต่อไป โจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงตกลงซื้อขายเครื่องและอุปกรณ์พร้อมทั้งขอซื้อหุ้นที่โจทก์ถืออยู่ในบริษัทจำเลยที่ ๑ คืน โดยทรัพย์สินที่จำเลยที่ ๑ จัดหาและติดตั้งตามสัญญามีสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ที่ร้อยอยู่ในท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์จำนวน ๓๓ เส้นทาง จำเลยทั้งสองชำระค่าตอบแทนตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ชำระค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดิน หลังจากสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลง จำเลยที่ ๑ ยังคงใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินที่พิพาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ แจ้งว่าได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงขอเปลี่ยนคู่สัญญา ซึ่งโจทก์ได้อนุมัติให้เปลี่ยนคู่สัญญาและจำเลยที่ ๒ ได้ใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์เรื่อยมาจึงมีหน้าที่ชำระค่าตอบดังกล่าวข้างต้น แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระค่าตอบแทน ขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้ประโยชน์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อัตราค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องและสิทธิเรียกร้องขาดอายุความ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เห็นว่า การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะด้านโทรคมนาคม ได้ทำสัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมโดยให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการให้บริการในการเช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงภายในประเทศ เพื่อให้บริการทางโครงข่ายโทรคมนาคมในการรับส่งหรือเชื่อมต่อข้อมูลผ่านโครงข่ายเคเบิลในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับการติดต่อสื่อสาร จำเลยที่ ๑ ได้นำสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ร้อยผ่านท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของ กสท. เพื่อเชื่อมโยงอุปกรณ์โทรคมนาคมซึ่งติดตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้น สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสาธารณะด้านโทรคมนาคม จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ดังนั้นข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากการใช้ท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินของโจทก์ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โจทก์ บริษัทโกลบอล ครอสซิ่ง เซอร์วิสซิส จำกัด ที่ ๑ บริษัทซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ