คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับเหมาช่วงฯ อันเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิใช่ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 และหมวด 7 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีเท่านั้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223
การที่โจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการเจรจาและกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญารับเหมาช่วงฯ โดยทางศาล เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า “may” ในสัญญาข้อ 19.2.1 มีความหมายในทางกำหนดให้คู่สัญญาต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 490,393,190.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 484,224,313.61 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเพื่อให้โจทก์และจำเลยไปดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญารับเหมาช่วงในโครงการซีจีแอล พอสโก ทีซีเอส งานวิศวกรรมโยธาและการงานสถาปัตยกรรม โดยตามสัญญารับเหมาช่วงฯ ดังกล่าวมีการระบุข้อตกลงในเรื่องการระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับ หรือเกิดขึ้นจาก หรือที่เกี่ยวข้องกับสัญญาไว้ในสัญญาข้อ 19.1 และ 19.2
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับเหมาช่วงฯ อันเป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิใช่ร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด หรือขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 และหมวด 7 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่จะต้องอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณีเท่านั้นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น โจทก์ก็ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า ตามสัญญารับเหมาช่วงฯ ที่โจทก์ทำกับจำเลยมีข้อตกลงในเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างกันไว้ในสัญญาข้อ 19.1 และ 19.2 โดยในข้อ 19.1 มีสาระสำคัญว่า “หากเกิดข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งไม่ว่าจะเรียกเช่นใดก็ตาม ขึ้นระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ หรือเกิดขึ้นจาก หรือที่เกี่ยวข้องกับสัญญา ฉบับนี้ หรือการผิดสัญญา การบอกเลิกสัญญา หรือความยังคงมีผลใช้บังคับของสัญญา เมื่อมีการร้องขอจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องพยายามอย่างสุจริตที่จะดำเนินการระงับข้อพิพาทดังกล่าวเป็นประการแรกโดยการปรึกษาร่วมกันระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายภายในระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรจากคู่สัญญาอีกฝ่ายถึงการเกิดข้อพิพาทขึ้น ส่วนในข้อ 19.2 ว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ ได้กำหนดเรื่องการยื่นข้อพิพาทเพื่อเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการไว้ในข้อ 19.2.1 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า หากไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้ภายใน 60 วัน โดยการเจรจาร่วมกันระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตามที่ได้มีการพิจารณาใคร่ครวญไว้เป็นอย่างดีที่สุดแล้วตามข้อ 19.1 คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเพื่อเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตาม ข้อ 19.2 การอนุญาโตตุลาการจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับของหอการค้านานาชาติ สถานที่ที่ให้อนุญาโตตุลาการนั่งพิจารณาคือ สาธารณรัฐสิงคโปร์ จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าโจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาได้กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นจากสัญญารับเหมาช่วงฯ ไว้แล้ว โดยให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการเจรจาก่อน หากตกลงกันไม่ได้ภายใน 60 วัน โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะยื่นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเพื่อเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ส่วนคำว่า “may” ที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 19.2.1 ในชั้นไต่สวนคำร้อง จำเลยมีนายสุรศักดิ์ มาเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษ การตีความถ้อยคำในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ และการบังคับใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างคู่สัญญา โดยพยานให้ความเห็นในส่วนของคำดังกล่าวว่า หมายความว่า คู่สัญญาตกลงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิในการเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการหากคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ภายใน 60 วัน มิได้หมายความว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเลือกว่าจะระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือโดยทางศาลก็ได้ ซึ่งคำเบิกความของนายสุรศักดิ์ดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของนายจอง ที่เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานในฐานะผู้ร่างสัญญารับเหมาช่วงฯ ไม่ประสงค์ที่จะให้มีการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยศาลไทย จึงได้ร่างข้อสัญญากำหนดขั้นตอนการระงับข้อพิพาทโดยให้คู่สัญญาเจรจากันก่อน หากตกลงกันไม่ได้ภายใน 60 วัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะขอให้ระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และพยานยังได้เบิกความถึงความหมายของคำว่า “may” ในสัญญาข้อ 19.2.1 ว่าเป็นคำที่กำหนดเงื่อนไขให้คู่สัญญาต้องเจรจาระงับข้อพิพาทกันก่อน หากตกลงกันไม่ได้จึงจะไปดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ มิใช่เป็นการให้สิทธิคู่สัญญาที่จะไปฟ้องร้องคดีต่อศาล การที่นายสุรศักดิ์ซึ่งถือได้ว่าเป็นพยานคนกลางและนายจอง ซึ่งเป็นผู้ร่างสัญญาเบิกความสอดคล้องกันเช่นนี้ ทำให้น่าเชื่อว่า คำว่า “may” มีความหมายดังที่พยานทั้งสองเบิกความ อีกทั้งเมื่อพิจารณาถ้อยคำในสัญญาข้อ 19.1 และข้อ 19.2.1 ประกอบกันก็จะเห็นได้ว่าโจทก์จำเลยในฐานะคู่สัญญาตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการเจรจาและกระบวนการอนุญาโตตุลาการ การที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้ดังกล่าวเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าไม่ประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญารับเหมาช่วงฯ โดยทางศาล คำว่า “may” จึงไม่น่าจะมีความหมายในทางให้สิทธิคู่สัญญาที่จะเลือกฟ้องคดีต่อศาลดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำคัดค้าน เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า “may” ในสัญญาข้อ 19.2.1 มีความหมายในทางกำหนดให้คู่สัญญาต้องดำเนินกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share