คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3622/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 คือ เพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ ตามที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรการริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 จึงมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพในการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้กว้างขวางกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายฉบับอื่น และยังเปลี่ยนแปลงปลายทางของทรัพย์สินเหล่านี้ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามยาเสพติดของประเทศ โดยมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ริบ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในทันที โดยมิต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นต้องตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพิ่มเติมอีก ส่วนการเปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีเงินฝากของธนาคารไปเป็นชื่อของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และระยะเวลาในการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนเช่นว่ามานี้ ไม่ใช่เรื่องของกำหนดอายุความไม่ว่าจะเป็นในทางแพ่งหรือทางอาญา จึงไม่ตกอยู่ในกำหนดอายุความทั่วไป 10 ปี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และศาลชั้นต้นให้ริบทรัพย์สินรวม 11 รายการ ของจำเลยที่ 2 อันได้แก่ เงินสด 965,620 บาท สร้อยคอทองคำ ลายข้อหกเหลี่ยมสลับห่วง 1 เส้น สร้อยคอทองคำ ลายข้อกลมสลับห่วง 1 เส้น สร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น พระโลหะปางสมาธิพร้อมกรอบทองคำ 1 องค์ โลหะชุบทองประดับหินสีขาว เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เลขที่บัญชี 151 – 6 – 00xxx – x และ 151 – 2 – 28xxx – x เงินฝากสะสมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 362 – 0 – 65xxx – x เงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 325 – 1 – 07xxx – x ในชื่อบัญชีจำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ย และที่ดินตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 4691 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2560 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เงินฝากในบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เลขที่บัญชี 151 – 6 – 00xxx – x และ 151 – 2 – 28xxx – x เงินฝากสะสมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 362 – 0 – 65xxx – x โจทก์ไม่ได้บังคับคดีและไม่ได้ดำเนินการให้ทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด จึงขาดอายุความตามกฎหมาย ขอให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้อง ก็ไม่มีเหตุที่จะคืนทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้วให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุที่จะต้องสั่งให้คืนทรัพย์สินตามคำร้องแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาในทำนองว่า แม้ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้ว แต่ก็มิได้ดำเนินการให้มีการริบทรัพย์สินเกี่ยวกับเงินฝากในบัญชีธนาคารตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งมีกำหนดอายุความทั้งทางแพ่งและทางอาญา เมื่อพ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่เป็นเจ้าของเดิม เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 คือ เพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ ตามที่ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรการริบทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 จึงมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพในการริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้กว้างขวางกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายฉบับอื่น และยังเปลี่ยนแปลงปลายทางของทรัพย์สินเหล่านี้ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามยาเสพติดของประเทศ โดยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ริบ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ริบทรัพย์สินตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้ว ทรัพย์สินดังกล่าวย่อมตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในทันที โดยมิต้องมีการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นต้องตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพิ่มเติมอีก ส่วนการเปลี่ยนแปลงชื่อบัญชีเงินฝากของธนาคารไปเป็นชื่อของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และระยะเวลาในการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนเช่นว่ามานี้ ไม่ใช่เรื่องของกำหนดอายุความไม่ว่าจะเป็นในทางแพ่งหรือทางอาญา จึงไม่ตกอยู่ในกำหนดอายุความทั่วไป 10 ปี ดังที่จำเลยที่ 2 อ้าง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 มานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share