คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอำนาจของกฎหมายต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม แต่ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลยังคงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไปโดยต้องปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นได้กระทำผิดโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 เป็นองค์ประกอบสำคัญ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประกาศเลิกกิจการและเลิกจ้างก่อนที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นกรรมการ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยแสดงตัวและเจตนาเข้าดำเนินงานจัดการแทนจำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถูกใช้ชื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรรมการแทน ก. กรรมการคนก่อนระหว่างรอให้การเลิกกิจการและเลิกจ้างมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2557 เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่มีการเลิกจ้างให้ลูกจ้าง ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ว่า มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อย่างไรที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องอย่างไร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5, 67, 70, 118, 124, 144, 151 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง, 70 วรรคสอง, 118, 124 วรรคสี่, (ที่ถูก วรรคสาม) 144 วรรคหนึ่ง, 151 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานไม่จ่ายค่าชดเชย ปรับ 60,000 บาท ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ปรับ 20,000 บาท รวมปรับ 80,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 40,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ซึ่งได้มอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง อีกฐานหนึ่ง ปรับ 40,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 120,000 บาท เมื่อลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 60,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมบริษัทจำเลยที่ 1 มีนายกุศะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันจำเลยที่ 1 โดยนายกุศะรับนางสาววัลภา นางสาวนฤมล นายพล นางสาวประภัสสร นางปรางทิพย์ นางสาวเพ็ญธิดา นางน้ำเพ็ญ นางพัทธนันท์ นางสาวสาวิตรี นางปิยนุช นางสาวรินรส นางสาวชไมนุช นางสาวจุฑามาศ และนางสาวหรือนางบุญฑริกา เข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกก่อนวันสิ้นเดือนหนึ่งวัน โดยผ่านบัญชีธนาคารของลูกจ้าง และกำหนดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานครบหนึ่งปี 15 วันต่อปี ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 นายกุศะ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นได้บอกกล่าวเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสิบสี่คน โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 เมษายน 2557 โดยไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างทั้งสิบสี่คน ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2557 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แทน และเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 เวลากลางวัน ภายหลังจากการเลิกจ้างมีผล จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างร่วมกันไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างทั้งสิบสี่คน และเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2557 เวลากลางวัน ภายหลังพ้น 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้างมีผล จำเลยทั้งสองร่วมกันไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างทั้งสิบสี่คน ต่อมาวันที่ 4, 9, 10 และ 17 เมษายน 2557 เวลากลางวัน ลูกจ้างทั้งสิบสี่คนยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน จนกระทั่งพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 4 ที่ 52/2557 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างให้แก่ลูกจ้างทั้งสิบสี่คน ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง แต่เมื่อพ้นกำหนดวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างแก่ลูกจ้างทั้งสิบสี่คน
คดีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 กระทำหรือมีเจตนากระทำอย่างใด อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอำนาจของกฎหมายต้องดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้แทนนิติบุคคลก็ตาม แต่ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลยังคงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไปโดยต้องปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลนั้นได้กระทำผิดโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 เป็นองค์ประกอบสำคัญ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประกาศเลิกกิจการและเลิกจ้างก่อนที่จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นกรรมการ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยแสดงตัวและเจตนาเข้าดำเนินงานจัดการแทนจำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถูกใช้ชื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้เป็นกรรมการแทนนายกุศะกรรมการคนก่อนระหว่างรอให้การเลิกกิจการและเลิกจ้างมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2557 เท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 และร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่มีการเลิกจ้างให้ลูกจ้าง ฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์จึงต้องอุทธรณ์ว่า มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อย่างไรที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์เพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องอย่างไร ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share