แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่อ้างว่า ต้องเสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นศาลอันมูลเหตุกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้เกิดขึ้น เพื่อให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ผิดระเบียบเพื่อพิจารณาข้ออ้างของโจทก์ต่อไป มิใช่ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพราะข้อผิดระเบียบดังกล่าวมิใช่ข้อผิดระเบียบที่เกิดขึ้นในกระบวนพิจารณาของศาลฎีกา กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่มีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลล่างได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 137, 157, 162, 267, 326, 328 กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 1 ฉบับ โดยให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 และฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ว่า การที่ศาลชั้นต้นแจ้งนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก่โจทก์โดยการปิดหมายนั้น ไม่ชอบ ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ระบุที่หัวด้านบนของฎีกา ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ว่า คำร้องฎีกาขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์ (ที่ถูก ศาลอุทธรณ์ภาค 5) ซึ่งเมื่ออ่านเนื้อหาในคำร้องฎีกาฉบับนี้โดยละเอียดแล้ว แม้โจทก์จะโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเป็นการไม่ชอบ แต่โจทก์ได้ยกเหตุผลกล่าวอ้างเป็นข้อสำคัญว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและมีคำขอท้ายฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์ภาค 5 นั้น โดยระบุอ้างไว้ด้วยว่าโจทก์ยื่นคำร้องภายในระยะเวลา 8 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าความประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์หาใช่ต้องการให้ศาลฎีกาทบทวนคำวินิจฉัย ของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ แต่ประสงค์จะให้ศาลฎีกาเพิกถอนกระบวนพิจารณาในการทำคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เป็นคำฟ้องฎีกา หากแต่เป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์ภาค 5
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรงเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้หรือไม่ ในข้อนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาในการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไว้ว่า “ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร” ซึ่งต้องนำมาใช้ในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ด้วย จากบทบัญญัติดังกล่าวคำว่า “ศาล” ที่จะมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบย่อมหมายถึงศาลที่ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเอง การเพิกถอนกระบวนพิจารณาอันผิดระเบียบที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะเกิดจากการที่ศาลเห็นเป็นการสมควรเอง หรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่ต้องเสียหายยื่นคำร้องเข้ามาเมื่อศาลมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว หากคู่ความไม่พอใจจึงชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งศาลนั้น ๆ ต่อไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในภาค 4 ว่าด้วยอุทธรณ์และฎีกาซึ่งเป็นเรื่องการใช้อำนาจของศาลสูงพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยของศาลล่างอันเป็นอีกขึ้นตอนหนึ่งแยกต่างหากจากกัน หามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจศาลในลำดับชั้นที่สูงกว่าใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอันเกิดขึ้นในการพิจารณาของศาลในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าได้โดยตรงดังที่โจทก์อ้างในคำร้องไม่ ฉะนั้น หากโจทก์เห็นว่าการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้แก่โจทก์ด้วยวิธีการปิดหมายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยคดียังอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 และคำร้องเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กลับวินิจฉัยว่าคำร้องทั้งสองฉบับของโจทก์ดังกล่าวเป็นการยื่นอุทธรณ์ โดยยังไม่ทันมีคำสั่งศาลชั้นต้นในข้อที่ผิดระเบียบนั้นเสียก่อน เป็นการไม่ชอบ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและเป็นการผิดระเบียบซึ่งเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เอง ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่อ้างว่าต้องเสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังกล่าว จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นศาลอันมูลเหตุกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้เกิดขึ้นเพื่อให้พิจารณาข้ออ้างของโจทก์เรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของศาลอุทธรณ์ภาค 5 นั้นต่อไป มิใช่ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพราะข้อผิดระเบียบดังกล่าวมิใช่ข้อผิดระเบียบที่เกิดขึ้นในกระบวนพิจารณาของศาลฎีกา กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลฎีกาจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลล่างได้ ข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายกคำร้องของโจทก์