คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9173/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิด มิใช่มีแต่เพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จะเป็นผู้เสียหายได้เท่านั้น ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินก็เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ และสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 เมื่อสัญญาร่วมการงานและร่วมทุนระบุให้โจทก์มีสิทธิใช้ครอบครอง และได้ผลประโยชน์จากอุปกรณ์ในระบบ ทั้งสัญญาดังกล่าวยังกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาอุปกรณ์ในระบบให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีตลอดเวลาด้วย ค่าใช้จ่ายของโจทก์หากอุปกรณ์สูญหายหรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ ดังนี้ โจทก์ในฐานะผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดในทางการที่จ้างของลูกจ้างจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 341,985.97 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 318,682.34 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 318,682.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มีนาคม 2545) ให้ไม่เกิน 23,303.63 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 7,500 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะกรณีตามฟ้องเป็นเรื่องการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งต้องกระทำโดยเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น เห็นว่า การเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิด มิใช่มีแต่เพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จะเป็นผู้เสียหายได้เท่านั้น ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินก็เป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ และสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เช่นกัน เมื่อสัญญาร่วมการงานและร่วมทุนระบุให้โจทก์มีสิทธิใช้ ครอบครอง และได้ผลประโยชน์จากอุปกรณ์ ในระบบมีกำหนด 25 ปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2537 หรือวันที่มีการรับมอบอุปกรณ์ในระบบงวดแรก แล้วแต่วันใดจะถึงกำหนดก่อน ทั้งในสัญญาดังกล่าวยังกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาอุปกรณ์ในระบบให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีตลอดเวลา โดยจะต้องบำรุงรักษาทั้งด้านดูแลป้องกันและแก้ไขด้วยค่าใช้จ่ายของโจทก์หากอุปกรณ์สูญหายหรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดโจทก์ในฐานะผู้ครอบครองใช้ประโยชน์และดูแลรักษาอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายจากการละเมิดในทางการที่จ้างของลูกจ้างจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท

Share