คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งรถจี๊บ (ไม่มีตัวถัง) 34 คันและเครื่องอุปกรณ์จากญี่ปุ่น เสียภาษีศุลกากรสำหรับรถจี๊บร้อยละ 20 สำหรับเครื่องอุปกรณ์ร้อยละ 25 ของราคา แล้วนำมาประกอบกันเป็นรถนั่งสมบูรณ์จดทะเบียนจำหน่ายไป ซึ่งพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2478 มาตรา 4 และบัญชีต่อท้ายระบุถึงรถไม่มีตัวถังอัตราอากรตามราคาร้อยละ 26 รถมีตัวถังหรือสมบูรณ์แล้วร้อยละ 50 ดังนี้ เมื่อจำเลยได้เสียภาษีอย่างรถไม่มีตัวถังเป็นการเสียภาษีตามพิกัดอัตราศุลกากรแล้ว พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2479 มาตรา 5 ก็บัญญัติให้เรียกเก็บอากรแก่สิ่งที่นำเข้ามาตามสภาพแห่งของนั้น ณ เวลาที่นำเข้า แต่ที่บัญญัติต่อไปว่า “แต่สิ่งที่สมบูรณ์แล้วหากนำเข้ามาเป็นส่วน ๆ นั้น ……. จะเรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับสิ่งนั้นเสมือนหนึ่งว่าได้นำเข้ามาโดยประกอบส่วนต่าง ๆ นั้นเข้าด้วยกันโดยสมบูรณ์แล้วก็ได้” นั้น มีความหมายว่า จะเรียกเก็บก็ได้ หรือจะไม่เรียกเก็บก็ได้ ฉะนั้น จำเลยจะต้องเสียอากรเสมือนสิ่งสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อถูกเรียกเก็บ เมื่อยังไม่ถูกเรียกเก็บจำเลยก็ยังไม่ต้องรับผิดชอบเสียอากรเสมือนสิ่งที่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยยังไม่ต้องรับผิดเสียอากร ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี
พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2479 มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรอีกชั้นหนึ่ง ที่จะพิจารณาเรียกเก็บภาษี แต่มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่อธิบดีฯ เป็นผู้พิจารณาและชี้ขาดว่าการนำสิ่งของเข้ามาเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นความผิดพระราชบัญญัติศุลกากรหรือไม่ การพิจารณาและชี้ขาดว่าผู้ใดทำผิดและถูกลงโทษหรือไม่เป็นอำนาจของศาล
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 29/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้ามาประกอบพาณิชย์กิจในประเทศไทย เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ ถึง ๓๑ มกราคม ๒๕๐๑ จำเลยกับพวกได้นำสินค้ารถยนต์จี๊บโตโยต้าแลนด์ครุยส์เซอร์เป็นแชสสี และเครื่องอุปกรณ์ส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถแชสสี ซึ่งสามารถประกอบกันเป็นรถยนต์นั่งจี๊บสมบูรณ์ได้ ๓๔ คัน เข้ามาในประเทศไทยโดยทางเรือจากประเทศญี่ปุ่นรวม ๘ เที่ยว โดยมีเจตนาทุจริตเบียดบังฉ้อเงินค่าภาษีศุลกากร โดยจงใจบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง โดยวิธีแยกรถยนต์แชสสีกับเครื่องอุปกรณ์ส่วนประกอบของรถแชสสีเข้ามาสลับเที่ยวกันแล้วปิดบังความจริง ไม่แจ้งประเภทพิกัดอัตราของสินค้านำเข้าให้ถูกต้องประเภทและพิกัดอัตราตามกฎหมาย แต่ได้แจ้งแยกประเภทเป็นประเภทพิกัดอัตราซึ่งค่าภาษีต่ำในใบขนสินค้านำเข้า ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องทำยื่นต่อเจ้าพนักงานศุลกากร เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรอันถูกต้อง ตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้นเป็นเงินค่าภาษีศุลกากรที่จำเลยจักต้องเสีย ๕๔๑,๓๖๖.๓๔ บาท จำเลยกับพวกชำระแล้ว ๒๒๕,๐๕๙.๑๔ บาท รัฐบาลขาดเงินภาษี ๓๑๖,๓๐๗.๒๐ บาท รถยนต์จี๊บแชสสี ๓๔ คันนี้ราคา ๙๑๒,๔๘๐.๔๘ บาท เครื่องอุปกรณ์ส่วนประกอบต่าง ๆ ราคา ๑๗๐,๑๖๘.๕๒ บาท รวมราคารถยนต์นั่งสมบูรณ์ ๓๔ คัน ๑,๐๘๒,๖๔๙.๑๐ บาท ซึ่งจำเลยตีทะเบียนและจำหน่ายหมดแล้ว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐,๒๗,๑๐๒ ทวิ ๑๐๒ ตรี,๑๑๓,๑๒๐; (ฉบับที่ ๑) พ.ศ. ๒๔๗๑ มาตรา ๓, (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๐,๑๖, (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓; (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๙ พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๕,๗,(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๗๙ มาตรา ๕,๖ พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔,๘,๙
จำเลยให้การว่า มิได้เบียดบังฉ้อเงินภาษี จำเลยชำระไว้ถูกต้องแล้ว รถยนต์ที่นำไปตีทะเบียนเป็นสินค้าที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในประเทศไทย สินค้าตามฟ้องจำเลยนำเข้ามาหลายครั้งหลายหนต่างกรรมต่างวาระ โดยมีเจตนานำเข้ามาจำหน่ายในสภาพตามที่ยังมิได้ประกอบเป็นตัวรถยนต์ฟ้องเคลือบคลุม และขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า รูปคดียังเปิดช่องให้สงสัยว่าจำเลยมีเจตนาฉ้อภาษีหรือไม่ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยจงใจหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร พิพากษากลับลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง ปรับ ๔ เท่าของราคาของ รวมทั้งค่าอากรที่ยังขาดอยู่เป็นเงิน ๕,๕๙๕,๘๒๕.๒๐ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยได้สั่งรถจี๊บโตโยต้าแชสสี (ไม่มีตัวถัง) รวมทั้งหมด ๓๔ คัน เครื่องอุปกรณ์ส่วนประกอบต่างๆ ของรถจี๊บจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยโดยทางเรือ ๘ เที่ยวด้วยกัน ตามใบแนบเอกสารหมาย จ.๓ จ.๗ จ.๘ และ จ.๑๐ โดยเสียภาษีศุลกากรสำหรับรถจี๊บโตโยต้าแชสสีร้อยละ ๒๐ ของราคา และสำหรับเครื่องอุปกรณ์ส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถจี๊บร้อยละ ๒๕ ของราคา แล้วนำเครื่องอุปกรณ์ที่นำเข้ามาตามฟ้องบางส่วนประกอบกับรถแชสสี ๓๔ คันดังกล่าว และได้เอาเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ นอกรายการตามฟ้องบางส่วนมาประกอบเข้าด้วยเป็นรถยนต์จี๊บนั่งที่สมบูรณ์ ๓๔ คัน แล้วไปจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งจำหน่ายไปทั้งหมด ๓๔ คัน
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งออกไปนั้น ท่านให้เรียกเก็บและเสียอากรตามพิกัดอัตราศุลกากรต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ เว้นไว้แต่ที่มีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพิกัดอัตราที่กล่าวนั้น” ตามบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งใช้อยู่ในขณะที่จำเลยถูกหาว่ากระทำผิดคดีนี้ระบุถึงรถไม่มีตัวถัง(แชสสี)อัตราอากรตามราคาร้อยละ ๒๐ รถมีตัวถังหรือสมบูรณ์แล้วอัตราอากรตามราคาร้อยละ ๕๐ ได้ความว่า จำเลยนำรถที่ไม่มีตัวถัง(แชสสี) เข้ามาและได้เสียภาษีอย่างรถไม่มีตัวถัง เป็นการเสียภาษีตามพิกัดอัตราศุลกากรต่อท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรแล้ว พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๒) มาตรา ๕ ก็บัญญัติให้เรียกเก็บอากรแก่สิ่งที่นำเข้ามาตามสภาพแห่งของนั้น ณ เวลานำเข้า แต่มาตรานี้ก็บัญญัติต่อไปว่า “แต่สิ่งที่สมบูรณ์แล้วหากนำเข้ามาเป็นส่วน ๆ นั้น แม้ว่าส่วนประกอบนั้น ๆ จะบรรจุหีบห่อต่างหากจากกัน และมีอัตราอากรกำหนดไว้โดยเฉพาะสำหรับส่วนนั้น ๆ ในพิกัดอัตราแล้วก็ดี จะเรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับสิ่งนั้นเสมือนหนึ่งว่า ได้นำเข้ามาโดยประกอบส่วนต่าง ๆ นั้นเข้าด้วยกันโดยสมบูรณ์แล้วก็ได้” ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความตอนหลังนี้บัญญัติว่า จะเรียกเก็บอากรเสมือนสิ่งที่สมบูรณ์แล้วก็ได้ ข้อความตอนหลังนี้บัญญัติถึงการเรียกเก็บ และคำว่า “จะเรียกเก็บ….ก็ได้” นั้น ย่อมมีความหมายว่า จะเรียกเก็บก็ได้หรือจะไม่เรียกเก็บดังกล่าวนั้นก็ได้ ฉะนั้น จำเลยจะต้องเสียอากรเสมือนสิ่งที่สมบูรณ์แล้วก็ต่อเมื่อถูกเรียกเก็บเมื่อจำเลยยังไม่ถูกเรียกเก็บดังกล่าว จำเลยก็ยังไม่ต้องรับผิดเสียอากรเสมือนสิ่งที่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยยังไม่ต้องรับผิดเสียอากรดังกล่าวก็ไม่อาจถือว่าจำเลยหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี
ส่วนพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๖ เป็นบทบัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรอีกชั้นหนึ่ง ที่จะพิจารณาเรียกเก็บภาษีแต่มิใช่เป็นการให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้พิจารณาและชี้ขาดว่าการนำสิ่งของเข้ามานั้นเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ หรือไม่ การที่จะพิจารณาและชี้ขาดว่าผู้ใดกระทำผิดและถูกลงโทษทางอาญาหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล จึงเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

Share