คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1345/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะถูกจับกุมพร้อมของหนีภาษี จำเลยที่ 3 นั่งรถยนต์ไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถ ของหนีภาษีที่บรรทุกรถยนต์มามีเป็นจำนวนมากและเป็นสินค้าที่นำมาจากต่างประเทศ ของหนีภาษีบรรทุกรถยนต์มามีเป็นจำนวนมากและเป็นสินค้าที่นำมาจากต่างประเทศ ของบางส่วนเอาไว้ที่เบาะที่นั่งตอนหลังเห็นได้ชัดเจน เช่นนี้นับได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับเอาไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรตาม พระราชบัญญัติ ศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา27 ทวิ แล้ว
พระราชบัญญัติ ศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 ทวิ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ค่าปรับตามบทมาตราดังกล่าวหาได้หมายความรวมถึงภาษีการค้า ภาษีเทศบาลอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากรด้วยไม่ การคิดคำนวนค่าปรับโดยนำภาษีการค้า ภาษีเทศบาล มารวมคำนวณด้วยจึงไม่ชอบ และศาลต้องปรับจำเลยที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันทุกคนไม่เกินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยทุกคนเรียงตามรายตัวบุคคลจึงเป็นการไม่ถูกต้อง แต่โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์โต้แย้งปัญหานี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 รวมกันย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันได้รับโทษหนักขึ้น เป็นการต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา212 เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งเป็นเหตุที่อยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยใหม่ให้จำเลยทุกคนได้รับโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคลรวมกันแล้วไม่เกินโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของราคา 70,568 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผลิตในต่างประเทศยังไม่ได้เสียค่าอากรรวม 32,893.52 บาท และยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องและนำเข้ามาในราชอาณาจักรหลีกเลี่ยงภาษีอากร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13)พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2499 มาตรา 6, 8 ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 137,948.69 บาท ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 รวมกันเป็นเงิน 275,897.38 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2526 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ศุลกากรอำเภอสะเดาได้จับกุมจำเลยทั้งสาม และยึดสิ่งของที่ผลิตขึ้นในต่างประเทศยังไม่ได้เสียภาษีอากร และไม่ได้ผ่านศุลกากรซึ่งบรรทุกอยู่ในรถยนต์ของกองปราบปรามที่จำเลยทั้งสามใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ของที่ยึดมี 8 รายการ ราคาของและค่าอากรปรากฏตามใบประเมินราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2กระทำความผิดตามฟ้องนั้น ตามคำเบิกความของนายปรีชา สังข์ศิริเจ้าพนักงานศุลกากรว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่บริเวณหลักเขตแดนไทยมาเลเซียมีรถยนต์ของกองปราบปรามหมายเลขทะเบียนกรมตำรวจ03932 แล่นเข้าไปจอดอยู่ห่างหลักเขตแดนประมาณ 20 เมตร มีรถยนต์โดยสารจากประเทศมาเลเซียผ่านเข้ามาในเขตแดนไทย 2 คัน และรถแท็กซี่ตามมา 1 คัน รถแท็กซี่ไปจอดอยู่ข้างรถยนต์ของกองปราบปราม เห็นผู้โดยสารและคนขับรวม 3 คนนำหีบห่อจากรถแท็กซี่ไปใส่ในรถยนต์ของกองปราบปราม จึงได้แจ้งให้หัวหน้าด่านศุลกากรพรมแดนทราบเพื่อทำการจับกุม แต่รถยนต์ของกองปราบปรามแล่นผ่านไปไม่ยอมหยุดให้ทำการตรวจ จึงได้วิทยุไปให้ด่านศุลกากรอำเภอสะเดาสกัดจับกุม เจ้าพนักงานศุลกากรอำเภอสะเดาจึงได้จับกุมจำเลยทั้งสามและยึดสิ่งของที่บรรทุกมาเป็นของกลาง จำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยทั้งสามรับราชการที่แผนก 8 กองปราบปรามประจำอำเภอหาดใหญ่ โดยจำเลยที่ 1 รักษาการในตำแหน่งสารวัตรแผนกเป็นผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถจำเลยที่ 3 นั่งรถยนต์ไปกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุตามคำเบิกความของนายปรีชาและนายชายแท้ยุกตานนท์ พยานโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 นั่งมาในรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อผู้โดยสารแท็กซี่และคนขับนำของกลางมาไว้ในรถยนต์ จำเลยที่ 3 ก็อยู่ในรถตลอดเวลา ขณะที่รถยนต์ผ่านด่านศุลกากรพรมแดนก็ไม่ยอมหยุดรถให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจค้น จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรพรมแดนต้องวิทยุแจ้งให้ด่านศุลกากรอำเภอสะเดาสกัดจับกุม จึงสามารถจับกุมจำเลยทั้งสามและยึดของกลางได้ พฤติการณ์น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของกลางดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ยังไม่ได้เสียภาษีอากรและผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง และนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร ที่จำเลยที่3 อ้างว่าจำเลยที่ 1 รับฝากของมาจากบุคคลอื่น จำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่าเป็นของหนีภาษีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสิ่งของที่บรรทุกรถยนต์มามีจำนวนมากและเป็นสินค้าที่นำมาจากต่างประเทศของบางส่วนเอาไว้ที่เบาะที่นั่งตอนหลังเห็นได้ชัดเจน ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ให้ปรับสี่เท่าของราคาของและค่าอากรรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นค่าปรับเป็นเงิน413,846.08 บาทนั้น เห็นว่าค่าปรับตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ หาได้หมายความรวมถึงภาษีการค้าภาษีเทศบาล อันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากรด้วยไม่ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คิดคำนวณค่าปรับโดยรวมภาษีการค้า ภาษีเทศบาลมาคำนวณค่าปรับด้วยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ค่าปรับสี่เท่าของราคาของเมื่อรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน365,149.96 บาท ทั้งตามบทบัญญัติของมาตรา 27 ทวิ นี้ศาลต้องปรับจำเลยทุกคนรวมกันไม่เกิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยทุกคนเรียงตามรายตัวบุคคลจึงเป็นการไม่ถูกต้องแต่โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์โต้แย้งในปัญหาข้อนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 รวมกันย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับโทษหนักขึ้น จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 เนื่องจากปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งเป็นเหตุที่อยู่ในส่วนลักษณะคดี แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเสียใหม่ ให้จำเลยทุกคนได้รับโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคลตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 121,716.65 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share