คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3553/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ระบุเหตุในหนังสือเลิกจ้างไว้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงาน ไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างว่าการประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 นั้นประพฤติตนในรายละเอียดอย่างไรจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งจนถึงเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 เมื่อโจทก์ไม่ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างว่าจำเลยที่ 2 มีสัมพันธ์ในทางชู้สาวอันเป็นเหตุผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โจทก์จึงยกเหตุมีสัมพันธ์ในทางชู้สาวเป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 130/2548
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2544 โจทก์จ้างจำเลยที่ 2 ทำงานตำแหน่งพนักงานประจำบาร์ ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2548 โจทก์มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยระบุเหตุผลในการเลิกจ้างไว้เพียง 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงาน และประการที่สอง ข่มขู่เพื่อนร่วมงาน แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มิได้ระบุถึงเหตุเลิกจ้างกรณีที่จำเลยที่ 2 บุกรุกเข้าไปในห้องประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาตและแสดงกิริยาก้าวร้าว อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงไว้ในหนังสือเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในอันที่จะไม่ต้องรับผิดชำระค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ สำหรับเหตุที่จำเลยที่ 2 มีความประพฤติในทางชู้สาวนั้น ในหนังสือเลิกจ้างมิได้ระบุว่า จำเลยที่ 2 มีความประพฤติในทางชู้สาว แต่ระบุเหตุเพียงว่าจำเลยที่ 2 ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงาน จึงเป็นการระบุเหตุในความหมายที่กว้างเกินไป และไม่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงไปได้ว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมในเรื่องใด เพราะความประพฤติที่ไม่เหมาะสมนั้นมีทั้งที่เป็นการกระทำที่ผิดวินัยอย่างร้ายแรงกับการกระทำที่ผิดวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งมีผลต่อการถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยทันทีหรือนายจ้างต้องมีหนังสือตักเตือนก่อนจึงจะเลิกจ้างได้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเหตุดังกล่าวมีความหมายเป็นไปในทางเดียวกันกับความประพฤติในทางชู้สาวได้ เมื่อโจทก์มิได้ระบุเหตุผลว่าจำเลยที่ 2 มีความประพฤติในทางชู้สาวไว้ในหนังสือเลิกจ้างโดยชัดแจ้งโจทก์ย่อมไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม สำหรับเหตุเลิกจ้างสุดท้ายที่ระบุไว้ว่าจำเลยที่ 2 ข่มขู่เพื่อนร่วมงานนั้น ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ มิได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าการข่มขู่เพื่อนร่วมงานเป็นการกระทำที่ผิดวินัยอย่างร้ายแรงและพฤติกรรมของจำเลยที่ 2 ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง โจทก์ย่อมไม่สามารถอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหนังสือตักเตือนแต่อย่างใด คำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอน พิพากษายกฟ้อง
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นเดียวว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 130/2548 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับพนักงานโจทก์อันเป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง และหนังสือเลิกจ้างระบุว่าจำเลยที่ 2 ประพฤติตนไม่เหมาะสมเป็นเหตุการเลิกจ้างแล้วนั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม(เดิม) บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ เมื่อโจทก์ระบุเหตุผลในหนังสือเลิกจ้างไว้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงาน โดยมิได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างว่าการประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 นั้นประพฤติตนในรายละเอียดอย่างไรจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งจนถึงเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างโดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจเข้าใจว่าตนถูกเลิกจ้างเพราะประพฤติไม่เหมาะสมอย่างใด เมื่อโจทก์ไม่ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างว่าจำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวอันเป็นเหตุผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ดังนั้นโจทก์จะยกเหตุดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.541 มาตรา 17 วรรคสาม(เดิม) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่จำเลยที่ 2 คำสั่งของจำเลยที่ 1 และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

Share