คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายรับรองแล้วจึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับที่ 1ตามมาตรา 1629 หาจำต้องฟ้องคดีขอให้รับเป็นบุตรหรือต้องมีคำสั่งศาลว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนไม่ ผู้คัดค้านเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตายไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกหรือร่วมกับ บ. ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมิได้สั่งและศาลอุทธรณ์ก็มิได้แก้ไขจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายกฤษดามหาสันติปิยะ ผู้ตายกับนางบุญเพิ่ม อินทรฑูต เมื่อวันที่ 28มิถุนายน 2533 ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกฆาตกรรม โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ เนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้เยาว์จึงมีเหตุขัดข้องในการขอรับมรดก ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งตั้งนางบุญเพิ่ม อินทรฑูต มารดาผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ผู้ร้องไม่ใช่บุตรของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจที่จะมายื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ขอให้ยกคำร้อง และแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางบุญเพิ่ม อินทรฑูต มารดาผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายกฤษดา มหาสันติปิยะ ผู้ตายให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง 600 บาท
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของนายกฤษดา มหาสันติปิยะ เจ้ามรดกหรือไม่ ผู้ร้อง นางบุญเพิ่ม อินทรฑูต มารดาผู้ร้องเบิกความว่านางบุญเพิ่มกับนายกฤษดาอยู่กินฉันสามีภรรยากันตั้งแต่ปี 2514แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือผู้ร้องซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2524 ตามเอกสารหมาย ร.1 นายกฤษดาเป็นผู้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ร้องให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเพชรเวชบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย ร.8 ระหว่างนายกฤษดามีชีวิตอยู่เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูออกค่าใช้จ่ายให้ผู้ร้อง ให้ผู้ร้องใช้นามสกุล ตามเอกสารหมาย ร.3 ทั้งได้ให้ผู้ร้องเป็นผู้รับประโยชน์จากการประกันชีวิตตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.7 และ ร.10 นอกจากนี้ผู้ร้องยังมีนางบุษยา จันทร์ดวง นางอุทัยรัตน์ คำโนนม่วงครูโรงเรียนสุทธารัตน์บ้านสวน มาเบิกความสนับสนุนว่า ตามหลักฐานของทางโรงเรียนระบุว่าผู้ร้องเป็นบุตรนายกฤษดา นายกฤษดาเคยไปหาผู้ร้องที่โรงเรียน นายชัยยันต์ ชนินทรานันท์ ซึ่งเคยติดต่อค้าขายกับนายกฤษดาก็เบิกความว่า นายกฤษดาเคยพาผู้ร้องไปหาพยานที่โรงงานและที่บ้านของพยาน นายกฤษดาเรียกตัวเองว่าพ่อและเรียกผู้ร้องว่าลูก พันตำรวจโทการุณ จิตรภักดีร้อยตำรวจเอกชรัช จันทร์สุระ และพันตำรวจโทไพฑูรย์ ชูชัยยะเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชลบุรี ซึ่งรู้จักนายกฤษดาและเคยสอบสวนคดีที่นางบุญเพิ่มกล่าวหานายกฤษดาข้อหาบุกรุกเบิกความประกอบเอกสารหมาย ร.15 ว่า ทราบว่านายกฤษดาและนางบุญเพิ่มเป็นสามีภรรยากันและผู้ร้องเป็นบุตร พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีเหตุผลและน้ำหนักในการรับฟัง ผู้คัดค้านคงมีแต่ตัวผู้คัดค้านมาเบิกความว่า ผู้ร้องมิได้เป็นบุตรของเจ้ามรดกโดยนำสืบว่า นางบุญเพิ่มมารดาผู้ร้องมีบุตรกับบุคคลอื่นอีกหลายคนทั้งไม่เคยอยู่บ้านเดียวกับนายกฤษดา และเหตุอื่น ๆ ซึ่งไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องดังกล่าวได้ พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายกฤษดาผู้ตายรับรองว่าผู้ร้องเป็นบุตรนอกกฎหมายของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกในลำดับที่ 1 ตามมาตรา 1629 หาจำต้องไปฟ้องคดีขอให้รับเป็นบุตรหรือต้องมีคำสั่งศาลว่าผู้ร้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อนไม่ ผู้คัดค้านเป็นเพียงพี่ชายร่วมบิดามารดากับผู้ตายไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1630 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกหรือร่วมกับผู้อื่นเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายตามมาตรา 1713 ส่วนนางบุญเพิ่มเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ร้อง จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการจัดการมรดกรายนี้เพื่อประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งให้นางบุญเพิ่ม อินทรฑูตเป็นผู้จัดการมรดกชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาแทนผู้ร้องรวม 1,000 บาท

Share