แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๐/๒๕๕๑
วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลแขวงอุดรธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลปกครองขอนแก่นและศาลแขวงอุดรธานีให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ นายหนึ่งบุรุษ โสธิสัย ที่ ๑ นายอำนาจบุตรชาดาที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยป้องกันป่าอุดรธานี ๓ ที่ ๑ กรมป่าไม้ ที่ ๒ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๕๒/๒๕๕๐ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองรับจ้างนางประยูร หาฝ่ายเหนือ เจ้าของผู้ถือสิทธิแห่งหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เลขที่ ๐๕๒๔๗ แปลงที่ ๑๐ ระวาง ส.ป.ก. ๔๑๕๙ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๒๑ ตารางวาไถเปิดหน้าดินในที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๓มิถุนายน ๒๕๔๙ ขณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกำลังไถเปิด หน้าดินให้กับนางประยูร ผู้ถูกฟ้องคดีที่๑ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันป่าที่ อด. ๓ (บ้านดุง) จังหวัดอุดรธานี และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านดุง ได้ร่วมกันจับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันบุกรุกแผ้วถาง เผาป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่า ทำไม้ และมีไม้หวงห้าม อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกับยึดรถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค ๕๔๗ ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รถแทรกเตอร์ หมายเลขทะเบียน ตค ๑๔๗๒ของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และท่อนไม้เต็ง ไม้รกฟ้า ไม้พวง ไม้รัง ไม้น้ำเกลี้ยง ไม้ตะคร้อ ไม้ขวายรวม๑๘ ท่อน ไว้เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๙ พนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดีทั้งสองเนื่องจากเห็นว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่มีผู้ได้สิทธิตามกฎหมายที่ดินจึงมิใช่ป่าตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และไม้ของกลางไม่เป็นไม้หวงห้าม การกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่เป็นความผิด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำโดยจงใจ และการยึดรถแทรกเตอร์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเสียหายขาดรายได้จากการใช้รถแทรกเตอร์ทำงานรับจ้างเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต้องรับผิดในมูลละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จำนวน ๓๖๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ จำนวน ๓๖๐,๐๐๐บาท รวม ๗๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองขอนแก่น ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงอุดรธานีเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๖๕/๒๕๕๐ และคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๖๖/๒๕๕๐แต่ศาลแขวงอุดรธานีไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเป็นคดีหมายเลขแดงที่๒๕๓๔/๒๕๕๐ และคดีหมายเลขแดงที่ ๒๕๓๕/๒๕๕๐ ตามลำดับ
ศาลปกครองขอนแก่นเห็นว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ต้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จะต้องเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ตามคำฟ้องคดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะเป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม และเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ก็ตาม แต่การใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านดุง ตั้งแต่ในชั้นการจับกุม การแจ้งข้อกล่าวหา การสอบสวน การให้ประกันตัว และการพิจารณาเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้มีคำสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนการกระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กระทำในการจับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งสองการแจ้งข้อกล่าวหา การยึดของกลาง และการพิจารณาเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองศาลแขวงอุดรธานีเห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ในฐานะเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ได้เข้ายึดรถแทรกเตอร์ของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันสืบเนื่องมาจากพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองรับจ้างนางประยูร หาฝ่ายเหนือ เจ้าของผู้ถือสิทธิแห่งหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินไถเปิดหน้าดินในที่ดินดังกล่าว แต่ขณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกำลังไถเปิดหน้าดินได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันป่าที่ อด. ๓ (บ้านดุง) จังหวัดอุดรธานี และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านดุงร่วมกันจับกุม โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันบุกรุกแผ้วถาง เผาป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่า ทำไม้ และมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกับยึดรถแทรกเตอร์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง รวม ๒ คัน และท่อนไม้ รวม ๑๘ ท่อน ไว้เป็นของกลาง ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ฟ้องคดีทั้งสองเนื่องจากเห็นว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่มีผู้ได้สิทธิตามกฎหมายที่ดิน จึงมิใช่ป่าตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และไม้ของกลางไม่เป็นไม้หวงห้าม การกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่เป็นความผิด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จับกุมผู้ฟ้องคดีทั้งสองและยึดรถแทรกเตอร์ของกลางเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยเห็นว่า การกระทำตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเรื่องการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้ว่าในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเข้าเกณฑ์เป็นการกระทำละเมิดหรือเป็นความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ การกระทำนั้นก็จะอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันป่าที่ อด. ๓ (บ้านดุง) จังหวัดอุดรธานี และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านดุง ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายึดรถแทรกเตอร์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และท่อนไม้ของกลางไว้เป็นพยานหลักฐานในคดี จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม ดังนั้น การฟ้องเรียกค่าเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดี ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายหนึ่งบุรุษ โสธิสัย ที่ ๑ นายอำนาจ บุตรชาดา ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยป้องกันป่าอุดรธานี ๓ ที่ ๑ กรมป่าไม้ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๕