คำวินิจฉัยที่ 31/2551

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๑/๒๕๕๑

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดนครนายก
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครนายกโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลจังหวัดนครนายกและศาลปกครองกลางให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ นายทรงพล พันสารี โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๑ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ ๒ นายสุธีรพันธ์ สวัสดิ์กุลดิลก ที่ ๓ นายสายทอง สามารถ ที่ ๔ นายสมนึก พันธะพุมมี ที่ ๕จำเลยต่อศาลจังหวัดนครนายก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๕๗/๒๕๕๐ ความว่า เมื่อวันที่ ๖กุมภาพันธ์๒๕๔๗ เวลาประมาณ๑๔ นาฬิกา จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ ๑ พร้อมเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครนายกได้นำหมายศาลจังหวัดนครนายกที่ ค ๓๕/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๖กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เข้าจับกุมและตรวจค้นบ้านโจทก์ โดยแจ้งข้อหาค้าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตและประกอบกิจการและตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔มาตรา ๒๙ ทวิและพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ในการจับกุมและตรวจค้นดังกล่าวจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ได้รื้อทุบทำให้เตาหม้อต้มกลั่นไม้หอมของโจทก์ซึ่งเดิมมีลักษณะติดตรึงอยู่กับหม้อต้มกลั่นเสียหาย และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจ ยึดทรัพย์สินของโจทก์เป็นของกลางหลายรายการ โดยของกลางรายการที่ ๑ ถึง ๗ มอบให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ผู้จับกุมไปเก็บรักษาไว้ ศาลจังหวัดนครนายกมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่๓๐ พฤษภาคม๒๕๔๙ ไม่ริบของกลาง พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนแจ้งผลคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ดำเนินการคืนของกลางแก่โจทก์ และโจทก์ติดตามทวงถามจำเลยที่๓ ถึงที่ ๕ แล้ว แต่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่ส่งมอบของกลางคืนแก่โจทก์ให้ถูกต้อง ของกลางบางรายการได้รับความเสียหาย บางรายการที่นำมาคืนไม่ใช่ของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ ๓ ถึงที่๕ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนของกลางในสภาพดีดังเดิม หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา ๗๔๘,๕๘๐ บาท และชดใช้ค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชดใช้ราคาและค่าเสียหายเสร็จ
ศาลจังหวัดนครนายกมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยไม่รับฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดตามที่โจทก์ฟ้องในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ในการเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ จำเลยที่ ๓ ถึงที่๕ไม่ได้กระทำละเมิดหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ได้จัดเก็บรักษาของกลางทั้งหมดที่ตรวจยึดไว้ตามระเบียบของทางราชการ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑และที่ ๒ ได้คืนของกลางทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับคืนเอง ค่าเสียหายไม่เกิน๘๕,๐๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒เป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ที่โจทก์อ้างว่าร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) มูลคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง
ศาลจังหวัดนครนายกเห็นว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสังกัดของจำเลยที่ ๑และที่ ๒ ตรวจค้นจับกุมโจทก์ในบ้านที่เกิดเหตุในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช๒๔๘๔ อันเป็นความผิดอาญาโดยใช้อำนาจการตรวจค้นจับกุมและยึดทรัพย์ของกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดอำนาจให้ไว้เป็นการเฉพาะ การที่โจทก์อ้างว่าในระหว่างดำเนินการตรวจค้นทรัพย์สินในบ้านที่เกิดเหตุ การเก็บรักษาของกลางที่ตรวจยึดไว้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ดูแลทรัพย์สินของโจทก์ที่เป็นของกลาง ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย และไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สินของกลางคืนแก่โจทก์ตามคำสั่งศาล จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่อยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม ดังนั้น การฟ้องเรียกค่าเสียหายของโจทก์จึงเป็นการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ อาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ กระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเข้าเกณฑ์เป็นการกระทำละเมิดหรือเป็นความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ การกระทำนั้นก็จะอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลปกครองเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์สินของกลางของโจทก์ไปหลายรายการโดยจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ทำหน้าที่เก็บรักษาของกลางจำนวน ๗รายการ ตามที่พนักงานสอบสวนมอบหมายอันเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา๘๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต่อมาเมื่อศาลจังหวัดนครนายกมีคำพิพากษาถึงที่สุดและมีคำสั่งไม่ริบของกลางทั้งหมด โจทก์ทวงถามของกลางคืนแล้ว แต่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ละเลยไม่กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ซึ่งอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง การฟ้องเรียกค่าเสียหายของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา๓แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เข้าจับกุมและตรวจค้นบ้านโจทก์ โดยแจ้งข้อหาค้าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต และประกอบกิจการและตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๒๙ ทวิ และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งในการเข้าจับกุมและตรวจค้นดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ รื้อทุบทำให้เตาหม้อต้มกลั่นไม้หอมของโจทก์เสียหาย และยังร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์สินของโจทก์เป็นของกลาง โดยจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นผู้เก็บรักษาไว้หลายรายการต่อมาศาลจังหวัดนครนายกมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ริบของกลางพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ คืนของกลางแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่ดำเนินการคืนของกลางให้ถูกต้องโดยของกลางบางรายการได้รับความเสียหายบางรายการที่นำมาคืนไม่ใช่ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนของกลางในสภาพดีดังเดิมหรือชดใช้ราคาและชดใช้ค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบอาชีพแก่โจทก์ แต่ศาลจังหวัดนครนายก มีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ คงมีปัญหาในส่วนคดีของจำเลยที่๑และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเห็นว่า การกระทำตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีอาญาอันอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ซึ่งแม้ว่า ในขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐคือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการอาจจะมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วย แต่ขั้นตอนใดเป็นการกระทำตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง การกระทำในขั้นตอนนั้นก็ย่อมอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แต่หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา และเข้าเกณฑ์เป็นการกระทำละเมิดหรือเป็นความรับผิดอย่างอื่นตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำนั้นก็จะอยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลปกครอง เมื่อคดีนี้เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จับกุม ค้น และยึดทรัพย์สินของโจทก์ไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดอำนาจไว้เป็นการเฉพาะ การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม แม้โจทก์จะฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ส่งมอบทรัพย์สินของกลางบางรายการแก่โจทก์ตามคำสั่งศาลจังหวัดนครนายกด้วย แต่เมื่อมูลคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายทรงพล พันสารี โจทก์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๑ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ๒ นายสุธีรพันธ์ สวัสดิ์กุลดิลก ที่ ๓ นายสายทอง สามารถ ที่ ๔ นายสมนึก พันธะพุมมี ที่ ๕ จำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share