แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลล่างทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดบ้านโจทก์ที่ 2 ทั้งที่โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดทรัพย์โจทก์ที่ 2 วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 โดยประกาศดังกล่าวระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีที่ขอให้ยึดทรัพย์ไว้โดยชัดแจ้ง โจทก์ที่ 2 จึงควรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 แล้ว โจทก์ที่ 2 มาฟ้องคดีนี้วันที่ 10 มกราคม 2550 จึงเกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ การที่โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์และศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ไม่เป็นเหตุให้อายุความละเมิดสะดุดหยุดลง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 31,250 บาท และร่วมกันหรือแทนกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ 2 ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นประการแรกว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้หรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลล่างทั้งสอง จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดบ้านของโจทก์ที่ 2 ทั้งที่โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนที่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการร้องขัดทรัพย์แทนโจทก์ที่ 2 นั้น ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 หามีผลทำให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิดไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดบ้านเลขที่ 221 ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 5204 เมื่อโจทก์ที่ 2 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 เพราะโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 221 และต้องการฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน โจทก์ที่ 2 จึงต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 ซึ่งตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีที่ขอให้ยึดทรัพย์ไว้โดยชัดแจ้ง โจทก์ที่ 2 จึงควรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 โจทก์ที่ 2 มาฟ้องคดีนี้วันที่ 10 มกราคม 2550 จึงเกินกำหนด 1 ปี แล้ว คดีโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความตามมาตรา 448 การที่โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์และศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ไม่เป็นเหตุให้อายุความละเมิดสะดุดหยุดลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 โดยมิได้วินิจฉัยถึงค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7