คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี หลังจากรู้ว่า ก. ตายก็ตาม แต่โจทก์ผู้รับจำนองยังสามารถใช้สิทธิบังคับจำนองได้ เพราะเหตุดังกล่าวไม่ทำให้หนี้ตามสัญญาจำนองระงับสิ้นไปตามที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744
ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษให้ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 26 อีก
บทบัญญัติใน ป.รัษฎากร มาตรา 89 มิได้มุ่งหมายให้ลงโทษผู้กระทำผิดเรียงตามอนุมาตราไป แต่มุ่งหมายให้ลงโทษตามอนุมาตราที่กำหนดเบี้ยปรับสูงสุดเพียงอนุมาตราเดียว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (2) (3) (4) หรือ (10) เพียงอนุมาตราเดียวซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับได้สูงสุด
สำหรับกรณีเบี้ยปรับตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (8) และ (9) ทั้งสองกรณี เป็นการเสียเบี้ยปรับที่สามารถแยกจากบทบัญญัติตามมาตรา 89 (2) (3) (4) (10) ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (8) หรือ (9) อีกฐานหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับรับผิดชำระเงินจำนวน 4,787,297.75 บาท โดยให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมเงินเพิ่มจากกองมรดกของนางกลม หากไม่ชำระขอให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2766 ตำบลโคกสำราญ กิ่งอำเภอบ้านแฮด (บ้านไผ่) จังหวัดขอนแก่น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 700,000 บาท ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงินจำนวน 352,862 บาท หากไม่ชำระขอให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3162 ตำบลโคกสำราญ กิ่งอำเภอบ้านแฮด (บ้านไผ่) จังหวัดขอนแก่น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จำนวน 352,862 บาท พร้อมเงินเพิ่มให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,787,297.75 บาท โดยให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 352,862 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3162 ตำบลโคกสำราญ กิ่งอำเภอบ้านแฮด (บ้านไผ่) จังหวัดขอนแก่น ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกลม ให้ชำระหนี้ตามที่นางกลมได้จำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ไว้เกิน 1 ปี หลังจากรู้ว่านางกลมถึงแก่ความตายก็ตาม แต่โจทก์ผู้รับจำนองยังสามารถใช้สิทธิบังคับให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้ชำระหนี้โจทก์เอาจากทรัพย์สินที่นางกลมนำมาจำนองได้ เพราะเหตุดังกล่าวไม่ทำให้หนี้ตามสัญญาจำนองระงับสิ้นไปตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ขาดอายุความ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ตรี ดังนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวถือได้ว่าการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 67 ทวิ นี้ ได้มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 26 อีก การประเมินในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย
การเสียเบี้ยปรับตาม มาตรา 89 (10) เนื่องจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด หรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงานหรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้อง ส่วนเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (2) เป็นกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษี สำหรับเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) เป็นกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องนำส่งในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนหรือนำส่งคลาดเคลื่อน และเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) เป็นกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปหรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป ตามบทบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกรณีที่กฎหมายเรียกเก็บเบี้ยปรับจากฐานภาษีเดียวกัน เห็นได้ว่า บทบัญญัติในประมวลรัษฎากร มาตรา 89 มิได้มุ่งหมายให้ลงโทษผู้กระทำผิดเรียงตามอนุมาตราไป แต่มุ่งหมายให้ลงโทษตามอนุมาตราที่กำหนดเบี้ยปรับสูงสุดเพียงอนุมาตราเดียว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (2) (3) (4) หรือ (10) เพียงอนุมาตราเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับได้สูงสุด สำหรับกรณีเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (8) เป็นกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้เก็บสำเนาใบกำกับภาษีในกรณีภาษีขายไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี และกรณีเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (9) เป็นกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้เก็บใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อที่ใช้เครดิตภาษีในการคำนวณภาษีไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำมาเครดิต ทั้งสองกรณีเป็นการเสียเบี้ยปรับที่สามารถแยกจากบทบัญญัติตามมาตรา 89 (2) (3) (4) และ (10) ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (8) หรือ (9) อีกฐานหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล เลขที่ 10400100/02/100042 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2541 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2539 โดยให้เพิกถอนเฉพาะการเรียกเก็บเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 26 จำนวน 339,157.95 บาท และแก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม มีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน สิงหาคม กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน 2538 สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน พฤศจิกายน 2539 โดยให้โจทก์เรียกเก็บเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (2) (3) (4) หรือ (10) เพียงอนุมาตราเดียวซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับได้สูงสุด นอกเหนือจากเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (8) หรือ (9) โดยให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกลมร่วมรับผิดชำระเงินจำนวนไม่เกิน 700,000 บาท สำหรับหนี้ค่าภาษีอากรตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีสิงหาคมและกันยายน 2539 หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2766 ตำบลโคกสำราญ กิ่งอำเภอบ้านแฮด (บ้านไผ่) จังหวัดขอนแก่น ของนางกลมออกขายทอดตลาด โดยหากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share