คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8807/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจในคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร มติของคณะรัฐมนตรีเป็นที่สุด” เป็นการระบุว่าเฉพาะกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินสูงเกินสมควรให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีได้ เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควร โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 บัญญัตินิยามคำว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น” ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางติดอยู่บนแท่นซีเมนต์สี่เหลี่ยมสำเร็จรูปซึ่งวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยไม่ได้ฝังเสาลงไปในดินและไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีการฝังเสาลงไปในดินและบุคคลอาจเข้าอยู่และใช้สอยได้เท่านั้น เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหาย และให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์ ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 5 สำหรับทรัพย์สินที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดั่งเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 9 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด. 8) และใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด. 11) ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 13,825 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนด ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในกรณีที่มีข้อพิพาททางแพ่งระหว่างหน่วยงานของรัฐนั้นได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งเรื่องที่พิพาทแก่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการส่งให้คณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาดแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจึงเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องผูกพันในการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว นอกจากนี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย ก็ได้กำหนดให้ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่พอใจในคำชี้ขาดตามการประเมินจะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะที่จะได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) การประเมินคำชี้ขาดของจำเลยจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมิน ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด. 8) และใบแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด. 11) ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 13,825 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตู้โทรศัพท์สาธารณะและเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งอยู่ในเขตเทศบาลของจำเลย ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์มีลักษณะเป็นตู้กระจกใสขอบอะลูมิเนียมสี่เหลี่ยมทรงสูงส่วนบนปิดทึบ ภายในตู้มีกล่องเหล็กสำหรับติดตั้งเครื่องโทรศัพท์ ขาตู้กระจกทั้งสี่ด้านถูกยึดด้วยนอต วางติดอยู่บนแท่นซีเมนต์สี่เหลี่ยมสำเร็จรูป แท่นซีเมนต์วางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดิน คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินกิจการของโจทก์ตามที่คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจกระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องการแปลงสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิมของโจทก์) และในรายละเอียดการแปลงสภาพข้อ 2.1.10.2.1 กำหนดให้โจทก์ในช่วงที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไปมาใช้บังคับ แต่ให้โจทก์จัดให้มีกฎระเบียบของตนเอง
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 จะยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานของรัฐต้องส่งเรื่องที่พิพาทกันให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการส่งให้คณะกรรมการชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ไม่ใช่กฎหมายที่จะมีผลตัดอำนาจฟ้องของผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่ง เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าถูกโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า ที่โจทก์โต้แย้งว่า ตู้โทรศัพท์พิพาทไม่ต้องเสียภาษีตามคำชี้ขาดจะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้ายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดตามวรรคหนึ่งเนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร ให้รัฐวิสาหกิจนั้นนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 ในการนี้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้ตามที่เห็นสมควร มติของคณะรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด” เป็นการระบุชัดเจนว่าเฉพาะกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินสูงเกินสมควร จึงให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจให้ลดหย่อนค่ารายปีได้ เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดเพราะเห็นว่าตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินและตามคำชี้ขาดสูงเกินสมควรแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีตามบทบัญญัติดังกล่าว และมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยประเมินหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 บัญญัตินิยามของคำว่า “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น” ให้กินความถึงแพด้วยเท่านั้น โดยมิได้กำหนดความหมายไว้โดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาลักษณะตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ เห็นได้ว่า มีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่ง แม้จะวางติดอยู่บนแท่นซีเมนต์สี่เหลี่ยมสำเร็จรูปซึ่งวางอยู่บนทางเท้าหรือพื้นดินโดยไม่ได้ฝังเสาลงไปในดินและไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยดังความหมายตามพจนานุกรมที่ศาลภาษีอากรกลางนำมาใช้วินิจฉัยก็ตาม แต่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ก็มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่มีการฝังเสาลงไปในดินและบุคคลอาจเข้าอยู่หรือใช้สอยได้เท่านั้น เมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะของโจทก์ได้ใช้คุ้มครองป้องกันมิให้เครื่องโทรศัพท์เสียหายและให้บริการประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์ให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์ และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 สำหรับทรัพย์สินที่จะได้รับการยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและกฎหมายมิได้บัญญัติให้ยกเว้นภาษีดั่งเช่นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ตู้โทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share