แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำสั่งให้งดสืบพยานก่อนที่ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นภายหลังจะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 เมื่อโจทก์มีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้แต่มิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
การที่โจทก์แถลงต่อศาลภาษีอากรกลางว่า โจทก์ยินยอมชำระภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินและได้ผ่อนชำระจนเหลือเพียงงวดสุดท้ายแล้วแต่ยังคงติดใจอยู่เพียงประเด็นเดียวคือ ประสงค์จะขอให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ จึงถือว่าโจทก์ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์ประเด็นอื่น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรกรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาแก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยให้ลดหรืองดเบี้ยปรับจำนวน 219,189.60 บาท และลดหรืองดเงินเพิ่มจำนวน 219,189.60 บาท กับแก้ไขภาษีส่วนท้องถิ่นลงอีกจำนวน 43,837.90 รวมเป็นเงินจำนวน 482,217.10 บาท
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า คำสั่งของศาลภาษีอากรกลางที่ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งให้งดสืบพยานก่อนที่ศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นในภายหลังจะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 เมื่อปรากฏว่าศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 เวลา 13.30 นาฬิกา โจทก์และทนายโจทก์ทราบคำสั่งในวันดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนที่ศาลภาษีอากรกลางจะอ่านคำพิพากษาย่อมมีเวลามากเพียงพอที่โจทก์จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งนั้นได้ตามกฎหมาย แต่ก็หาได้มีการโต้แย้งคัดค้านไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องโจทก์เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์แถลงต่อศาลภาษีอากรกลางว่า โจทก์ยินยอมชำระภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินและได้ผ่อนชำระจนเหลือเพียงงวดสุดท้ายแล้ว แต่ยังคงติดใจอยู่เพียงประเด็นคือประสงค์ขอให้ศาลงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ จึงถือว่าโจทก์ได้สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมดยกเว้นประเด็นที่ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ ดังนี้ ประเด็นที่ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ตามฟ้องโจทก์เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่และมีเหตุอันควรงดหรือลดภาษีท้องถิ่นหรือไม่ จึงเป็นข้อที่ไม่มีการยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า กรณีมีเหตุอันควรงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานโดยให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานมากน้อยเพียงใดและเอกสารที่โจทก์ส่งมอบประกอบไปด้วยเอกสารใดบ้าง อีกทั้งการที่โจทก์สละประเด็นข้อพิพาทอื่นทั้งหมดยกเว้นประเด็นที่ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยโจทก์ยินยอมชำระค่าภาษีที่ขาดตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไว้ อันถือว่าโจทก์ยอมรับว่าโจทก์มียอดรายรับที่แท้จริงจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามฟ้อง 16,156,320 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินอันเป็นฐานในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจากยอดรายรับเพียง 8,850,000 บาท ซึ่งต่ำกว่ายอดรายรับที่โจทก์ยอมรับเองในชั้นพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางเป็นจำนวนมากเกือบเท่าตัว ส่อให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีมาแต่เดิมกรณีจึงไม่มีเหตุอันควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน