คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วัน สุดท้ายสำหรับโจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 65,510 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างดังกล่าว 655,100 บาท ส่วนค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขาย ปรากฏว่าโจทก์ได้รับจากการทำงาน 300 วัน สุดท้ายคิดเป็นเงิน 139,965 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานในจำนวนเงินดังกล่าว รวมค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายทั้งสิ้น 795,065 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 1,495,164 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไป สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 124,597 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 279,840 บาท และเงินสมทบในส่วนของจำเลย 114,886.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้ง ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้เงิน 6,087,754.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 58,341.67 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 2,250,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 18,669.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราตามฟ้อง นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 700,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราตามฟ้องนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 1 ตุลาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับฟ้องแย้งให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การจะพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 หรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติว่า ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเหตุเลิกจ้างของจำเลยตามหนังสือเลิกจ้างเพียงอย่างเดียวแล้วนำมาเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจึงไม่ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จัดการภาค มีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานขาย ซึ่งตามใบกำหนดภารกิจหน้าที่ ข้อ 8 กำหนดให้การป้องกันและติดตามการทุจริตต่อหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญของโจทก์โดยตรง การที่นายชาญชัยผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย แม้โจทก์จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของนายชาญชัยดังกล่าว แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาไม่สามารถควบคุมกำกับดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนได้อย่างทั่วถึง จนทำให้นายชาญชัยสามารถนำชื่อร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยมาใช้ในการสั่งซื้อสินค้าและรับสินค้าแทนร้านค้าดังกล่าวไปได้หลายครั้งไม่ดำเนินการตรวจสอบยอดสั่งซื้อสินค้าของร้านค้าที่เป็นไปอย่างผิดปกติ อันเป็นช่องทางให้นายชาญชัยทุจริตต่อหน้าที่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำนวนมาก จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ครบถ้วนตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในใบกำหนดภารกิจหน้าที่ เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และมีเหตุให้จำเลยไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า จำนวนค่าชดเชยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยให้การรับว่าระยะเวลาของการทำงาน 300 วันสุดท้ายก่อนเลิกจ้างโจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลการขายเป็นเงินจำนวนหนึ่ง และข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกัน ว่าโจทก์ได้รับเงินรางวัลการขายซึ่งเป็นค่าจ้างตามผลงานของการทำงาน 300 วันสุดท้าย คือ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2552 ย้อนหลังขึ้นไปรวม 300 วันสุดท้ายเป็นเงินรวม 139,965 บาท คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2526 จำเลยเลิกจ้างโจทก์มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับโจทก์ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 65,510 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างดังกล่าว 655,100 บาท ส่วนค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขายนั้นเมื่อเงินรางวัลการขายที่โจทก์ได้รับจากการทำงาน 300 วันสุดท้าย คิดเป็นเงิน 139,965 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากค่าจ้างตามผลงานในจำนวนเงินดังกล่าว เมื่อนำค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับโดยคำนวณจากค่าจ้างตามระยะเวลาคือเงินเดือน และคำนวณจากค่าจ้างตามผลงานคือเงินรางวัลการขายมารวมกันแล้วโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายรวมทั้งสิ้น 795,065 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 700,100 บาทนั้น จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับปี 2548 ถึงปี 2551 และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนในปี 2552 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าปี 2548 ถึงปี 2551 จำเลยจัดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีเพียงปีละไม่เกิน 5 วันต่อปี โดยไม่ได้จัดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีอีกปีละ 9 วัน จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 6 วัน ตามกฎหมายและจากการตกลงของจำเลยอีก 8 วัน ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่สามารถสะสมได้ และปี 2552 โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว 4 วันนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและโจทก์ไม่ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่ใช่กรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับ ตามมาตรา 67 แก่โจทก์ก็ตาม แต่ตามประเด็นแห่งคดีศาลแรงงานกลางจำต้องฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละกี่วัน จำเลยมีการตกลงให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มเติมจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือไม่ หากมีการตกลงกันวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวเมื่อโจทก์ไม่ได้หยุดสามารถสะสมได้หรือไม่ โดยปี 2548 ถึงปี 2551 จำเลยจัดให้โจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีกี่วัน และปี 2552 โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีรวมแล้วกี่วัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่านอกจากค่าจ้างตามระยะเวลาที่เป็นเงินเดือนแล้วโจทก์ยังได้รับค่าจ้างตามผลงานเป็นเงินรางวัลจากการขายต้องนำมาคำนวณจ่ายเป็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินนั้นด้วย แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวมา คงปรากฏข้อเท็จจริงเฉพาะจำนวนเงินรางวัลการขายของโจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 เป็นต้นมา โดยไม่ปรากฏจำนวนเงินรางวัลการขายในเดือนอื่นในปีที่โจทก์เรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเฉพาะค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2552 จำนวน 18,669.36 บาท แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวและเหตุผลว่าเหตุใดโจทก์จึงมีสิทธิได้รับในจำนวนเช่นว่านั้น จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังข้างต้นแล้ว พิพากษาในประเด็นนี้ใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 795,065 บาท แก่โจทก์ และให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยให้ย้อนสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาเฉพาะประเด็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share