คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคสามซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528มาตรา 6 นั้น เป็นการบัญญัติกฎหมายขยายความในมาตรา 69 วรรคสองซึ่งเป็นเรื่องของการจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 มิได้ประสงค์ให้ใช้กับมาตรา69 วรรคแรกซึ่งเป็นเรื่องมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีมูลฝิ่น 1 ก้อนเล็กหนัก 1.6 กรัมไว้ในครอบครองกับเสพฝิ่นอีกจำนวนหนึ่งเข้าสู่ร่างกาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 58, 69, 91,102 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528 มาตรา 4, 6, 10ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 58, 69, 91, 102พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528 มาตรา 4, 6, 10ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ฐานมีมูลฝิ่นจำคุกหกเดือนฐานเสพฝิ่นจำคุกหกเดือนรวมแล้วให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนดหนึ่งปีจำเลยรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุกจำเลยหกเดือนของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่ากฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาในปัญหาว่าศาลจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสามแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528 มาตรา 6 ซึ่งมีโทษสูงกว่ามาตรา 69 วรรคแรกหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคแรกระบุโทษของผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 ให้จำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทถ้าเป็นการจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17แล้วมาตรา 69 วรรคสองระบุโทษให้จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ส่วนมาตรา 69 วรรคสามซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528 มาตรา 6 บัญญัติว่าถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นมอร์ฟีนฝิ่นหรือโคคาอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสองแสนบาทจึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ๆ ได้กำหนดโทษตามลำดับความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดถ้าจะถือว่าผู้ใดมีฝิ่นไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตามมาตรา69 วรรคแรกต้องลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสามที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วผู้นั้นก็จะได้รับโทษหนักกว่าผู้จำหน่ายฝิ่นหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 69 วรรคสองทั้งที่เป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงกว่าการมีฝิ่นไว้ในครอบครองโดยมิได้จำหน่ายหรือมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเสียอีก ที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่าถ้ามาตรา 69 วรรคสามที่แก้ไขใหม่ประสงค์จะให้ขยายความถึงวรรคสองโดยเฉพาะก็น่าจะบัญญัติไว้ทำนองเดียวกับมาตรา 76 วรรคสามและวรรคสี่ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528 เช่นเดียวกันนั้นเห็นว่าถ้ามาตรา 69 วรรคสามที่แก้ไขใหม่ประสงค์จะให้ใช้บังคับกับมาตรา 69 วรรคแรกแล้วก็น่าจะมีบทบัญญัติทำนองเดียวกับมาตรา 76 วรรคสามที่ใช้ถ้อยคำว่า ‘ถ้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดดังกล่าวมาในวรรคหนึ่ง…….’ เมื่อถ้อยคำในมาตรา 69 วรรคสามมิได้ระบุไว้เช่นนี้ก็ต้องถือว่ามาตรา 69 วรรคสามมิได้ประสงค์ให้ใช้กับมาตรา 69 วรรคแรกทั้งมาตรา 76 วรรคสามและวรรคสี่ที่แก้ไขใหม่ก็กำหนดโทษตามลำดับความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดเช่นกันกล่าวคือถ้ามีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีโทษสูงกว่ามีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยมิได้มีไว้เพื่อจำหน่ายที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามาตรา 69 วรรคสามเป็นการบัญญัติกฎหมายขยายความมาตรา 69 วรรคสองซึ่งเป็นเรื่องการจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share