คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจยื่นคำขอต่อศาลให้มีการรื้อถอนอาคารได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 และเมื่อหัวหน้าเขตผู้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพบว่าจำเลยต่อเติมอาคารผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครโดยไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ และมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารภายในเวลาที่กำหนดแล้ว ดังนี้ ข้อบัญญติกรุงเทพมหานครเป็นข้อกฎหมายที่ศาลรู้เอง เมื่อโจทก์นำสืบว่าได้ปฏิบัติตามครบทุกขั้นตอนแล้ว แม้ไม่นำสืบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องเสียไป
การฟ้องคดีให้ผู้ต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตรื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นั้นมิใช่เรื่องจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ และกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มิใช่อายุความตามมาตรา448.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาตไป ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารชั้นที่ 6 ออกไปโจทก์จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยรื้อถอนพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่ต่อเติมทางด้านหลังของอาคารชั้นที่ 1 ออกไปด้วย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้วปัญหาว่าจำเลยดัดแปลงอาคารหรือไม่นายธวัชชัย พึ่งพินิจพยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อวันที่ 10ตุลาคม 2522 ตรวจพบว่าอาคารของจำเลยกำลังต่อเติมจากชั้นที่5 เป็นชั้นที่ 6 และได้เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กด้านหลังอาคารออกไป 2 เมตรโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงรายงานให้นายสมฤกษ์ วุทฒิปรีชาหัวหน้าเขตพระนครทราบเห็นว่าการต่อเติมอาคารจากชั้นที่ 5 เป็นชั้นที่ 6 นั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายเพราะอาคารเป็นของใหญ่ ทั้งอาคารนั้นเป็นอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้วกำลังติดตั้งลูกกรงหรือเป็นอาคารที่กำลังก่อสร้างต่อเติมชั้นอาคารขึ้นอีกก็สังเกตได้ไม่ยากเช่นเดียวกันเมื่อพบการกระทำนายธวัชชัยก็รายงานต่อหัวหน้าเขตพระนครทันที ตามเอกสารหมาย จ.2 นายสมฤกษ์วุทฒิปรีชาหัวหน้าเขตพระนครเบิกความสนับสนุนว่าได้รับรายงานจากนายธวัชชัยระบุถึงการกระทำของจำเลยแสดงว่าเรื่องที่นายธวัชชัยรายงานน่าจะตรงต่อความจริงเพราะหลังจากรับรายงานแล้วนายสมฤกษ์จะต้องดำเนินการตามกฎหมายหลายขั้นตอน หากรายงานนั้นไม่ตรงต่อความจริง นายสมฤกษ์อาจตรวจสอบได้ง่าย นอกจากนี้ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพเรื่องต่อเติมอาคารศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว แม้พยานโจทก์ที่รู้เห็นจะมีแต่นายธวัชชัยและแผนที่เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งนายธวัชชัยทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยไม่มีบุคคลฝ่ายจำเลยลงชื่อไว้ด้วยก็ตามก็ไม่เป็นข้อพิรุธแต่อย่างใดข้ออ้างของจำเลยว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร6 ชั้นสร้างเสร็จตั้งแต่เดือนกันยายน 2521 ปีพ.ศ.2522 จำเลยไม่ได้ต่อเติมอาคารเพียงแต่ติดตั้งลูกกรงชั้นที่ 6 เท่านั้นเหตุที่รับสารภาพเพราะตำรวจแนะนำนั้นไม่อาจรับฟังได้เพราะหากอาคารพิพาทได้รับอนุญาตให้สร้าง 6 ชั้นและสร้างเสร็จก่อนปีพ.ศ.2522 จำเลยน่าจะอ้างใบอนุญาตหรือหลักฐานอื่นได้แต่ก็ไม่มีแม้เอกสารหมาย ล.1 ระบุว่าอาคารที่ซื้อขายเป็นอาคาร 6 ชั้นปลูกสร้างมาประมาณสองปีครึ่งก็เป็นเอกสารที่ทำขึ้นหลังจากเกิดเหตุคดีนี้แล้ว คู่สัญญาระบุข้อความอย่างไรก็ย่อมทำได้ทั้งฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับสารภาพต่อศาลแขวงพระนครเหนือโดยสำคัญผิดเพราะตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยรับสารภาพต่อหัวหน้าเขตพระนครในทำนองเดียวกันและการติดตั้งลูกกรงปกติทั่วไปย่อมทราบกันว่าไม่น่าจะเป็นความผิดที่จะต้องเสียค่าปรับจำนวนมากจึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะหลงเชื่อคำแนะนำดังอ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2522 จำเลยได้ทำการต่อเติมอาคารจากชั้นที่ 5 เป็นชั้นที่ 6 และจำเลยได้เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่พื้นชั้นล่างด้านหลังอาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาต
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 มาตรา 42 ได้บัญญัติเรื่องอำนาจฟ้องให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งหมายถึงโจทก์ด้วยมีอำนาจยื่นคำขอต่อศาลให้มีการรื้อถอนอาคารได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย ทั้งโจทก์นำสืบได้ว่าเมื่อพบการกระทำผิดหัวหน้าเขตพระนครผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้สั่งให้จำเลยระงับการกระทำและนำสืบว่าการกระทำของจำเลยผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครข้อ 76 (3) (4) และข้อ 83 ที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้และหัวหน้าเขตพระนครมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารภายในกำหนด 30 วันแล้วข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเป็นข้อกฎหมายที่ศาลรับรู้เองเมื่อโจทก์นำสืบให้เห็นได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามกฎหมายครบทุกขั้นตอนแล้ว แม้ไม่นำสืบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีก ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องเสียไปโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาเรื่องอายุความเห็นว่ากรณีของจำเลยไม่ใช่เรื่องจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษและกฎหมายไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 มิใช่อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ปัญหาว่าการต่อเติมพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กหลังอาคารผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยฎีกาว่าพื้นคอนกรีตอยู่ติดพื้นดินไม่ใช่สูง 2.50 เมตรนั้นตามคำเบิกความของนายธวัชชัยว่าพื้นชั้นล่างเทพื้นคอนกรีตออกไปอีกประมาณ 2 เมตรตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 2 และได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามเอกสารหมาย จ.2 เห็นว่าตามเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวระบุว่าพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กปกคลุมทางเดินหลังและมีรูปแผนที่ขีดเส้นตั้งระบุว่า 2.50 ตามเอกสารและรูปแผนที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ชัดว่าพื้นทางเดินด้านหลังสูงจากพื้นดิน 2.50 แม้จะไม่ได้ระบุว่าเป็นความสูงก็ไม่ใช่ข้อสำคัญเป็นแผ่นภาพที่พอเข้าใจได้ข้ออ้างของจำเลยว่าเทพื้นคอนกรีตในที่อ่างลึกเมตรเศษเป็นแต่เพียงข้ออ้างลอย ๆ ฟังไม่ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กด้านหลังอาคารสูงจากพื้นดิน 2.50 เมตรปกคลุมทางเดินทำให้มีที่ว่างด้านหลังอาคารไม่ถึง 2 เมตรเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครข้อ 76 (4) ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนนี้ด้วยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 800 บาทแทนโจทก์’.

Share