คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15668/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับกรมสามัญศึกษาและให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันประกอบกิจการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และ 369 แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 23,035,153.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 9,505,921.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 19 มิถุนายน 2545 อันเป็นวันฟ้อง จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 150,000 บาท
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2539 จำเลยทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบ รวมจำนวน 15 รายการ ของโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยชัยภูมิกับกรมสามัญศึกษา โดยตกลงค่าจ้างกันจำนวน 187,380,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยในการทำสัญญาจ้างตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ. 2 โจทก์ทั้งสามก่อสร้างตามสัญญาจ้างดังกล่าวตั้งแต่งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 จำเลยก่อสร้างต่อตั้งแต่งวดที่ 8 จนแล้วเสร็จ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาที่โจทก์ทั้งสามเป็นผู้รับจ้างช่วงจากจำเลยหรือจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ทั้งสามในการรับจ้างก่อสร้างตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ. 2 เห็นว่า จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยในการประมูลงานก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยชัยภูมิกับกรมสามัญศึกษา หากประมูลได้ โจทก์ที่ 1 ขอก่อสร้างแทนจำเลย โดยให้จำเลยหักเงิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินที่ประมูลงานได้เพื่อเป็นค่าบริหาร งานก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าซ่อมแซมความเสียหายงานก่อสร้างในระยะเวลาประกัน 2 ปี ส่วนเงิน 95 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็นของโจทก์ที่ 1 และเมื่อก่อสร้างเสร็จ โจทก์ที่ 1 จะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้จำเลยอีก 2 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินที่ประมูลงานได้ แต่จำเลยกลับนำสืบว่า โจทก์ทั้งสามรับจ้างช่วงจากจำเลยตกลงค่าจ้างร้อยละ 95 ของค่าจ้าง โดยไม่ปรากฏรายละเอียดข้อตกลงว่า หากโจทก์ทั้งสามหรือจำเลยผิดสัญญา แต่ละฝ่ายมีสิทธิเรียกร้องและความรับผิดประการใด ทั้งที่ค่าจ้างเป็นเงินจำนวนถึง 187,380,000 บาท ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์ที่ 1 ให้บริษัททิพย์รังสรร จำกัด ทำสัญญารับจ้างช่วงกับจำเลยตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล. 1 จำเลยก็ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ให้บริษัททิพย์รังสรร จำกัด ซึ่งโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการบริษัททำสัญญารับจ้างช่วงกับโจทก์ที่ 1 โดยขอให้จำเลยลงชื่อว่าจ้าง ส่วนค่าจ้างโจทก์ทั้งสามดำเนินการเอง ทั้งสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล. 1 ทำเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 แต่สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ. 2 ทำตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 และตามรายการสรุปรายรับ – รายจ่ายงานก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยชัยภูมิ เอกสารหมาย จ. 4 ระบุว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับเงินค่างานงวดที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 จำนวน 11,242,800 บาท ก่อนมีการทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล. 1 และเมื่อโจทก์ที่ 1 ก่อสร้างงานได้เพียง 5 งวด แล้วทิ้งงานไปก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยเรียกร้องให้โจทก์ที่ 1 รับผิดประการใด จึงไม่เชื่อว่าจำเลยประสงค์จะให้มีผลบังคับตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล. 1 ดังที่โจทก์ทั้งสามนำสืบว่ามิได้ประสงค์จะผูกพันกันตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล. 1 เพียงแต่ให้เป็นหลักฐานในการหักภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลย ยิ่งกว่านั้นตามรายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 ดังกล่าว นางสาวธินีวรรณ พยานจำเลยซึ่งเป็นสมุห์บัญชีบริษัทจำเลยเบิกความว่า ขณะที่ทำบัญชีตามเอกสารหมาย จ. 4 ยังสรุปค่าใช้จ่ายไม่ครบถ้วน นางอารยา ได้ขอเอกสารหมาย จ. 4 ไปจากนางสาวธินีวรรณ บัญชีดังกล่าวนางสาวธินีวรรณจัดทำหลังจากก่อสร้างโรงเรียนกาญจนาภิเษก วิทยาลัยชัยภูมิเสร็จสิ้นแล้ว และนางพรทิพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยเบิกความว่า ก่อนจัดทำสรุปเสร็จสิ้นนางอารยาได้ขอถ่ายสำเนาเอกสารหมาย จ. 4 ไป ปรากฏว่าตามรายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 ระบุว่า มีรายการส่วนแบ่ง 5 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับก่อนรวมภาษีมูลค่าเพิ่มให้เคซีเป็นเงิน 9,505,921.93 บาท และมีหมายเหตุว่า คิดดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทบต้นทั้งโครงการ หากโจทก์ทั้งสามเป็นผู้รับจ้างช่วงจากจำเลยโดยตกลงค่าจ้างร้อยละ 95 ของค่าจ้างที่จำเลยทำสัญญารับจ้างกับกรมสามัญศึกษาตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ. 2 และโจทก์ทั้งสามก่อสร้างได้เพียงงานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 และทิ้งงาน จำเลยต้องเข้าดำเนินการก่อสร้างเองตั้งแต่งวดที่ 8 จนแล้วเสร็จดังที่จำเลยนำสืบแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องมีรายการส่วนแบ่ง 5 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับดังกล่าวให้เคซีอีก ทั้งที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามทำสัญญารับจ้างช่วงโดยตกลงค่าจ้างร้อยละ 95 ของค่าจ้างที่จำเลยได้รับจากกรมสามัญศึกษา และจำเลยเข้าดำเนินการก่อสร้างเองตั้งแต่งวดที่ 8 จนแล้วเสร็จ เพราะเงินส่วนแบ่ง 5 เปอร์เซ็นต์ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยได้รับจากกรมสามัญศึกษา ไม่เกี่ยวกับค่าจ้างที่โจทก์ทั้งสามจะได้รับจากจำเลย ส่วนการคิดดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทบต้นทั้งโครงการนั้น นางสาวธินีวรรณเบิกความว่า จำเลยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแบบทบต้นจากโจทก์นับแต่วันที่จำเลยทดรองจ่ายเงินแทนโจทก์จนถึงสิ้นโครงการ และเมื่อจำเลยได้รับเงินค่าจ้างจากกรมสามัญศึกษา จำเลยมิได้นำไปหักจากเงินที่จำเลยทดรองจ่ายแทนโจทก์ แต่นำไปลงบัญชีรายรับและคิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จนถึงเสร็จสิ้นโครงการเช่นเดียวกัน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการจึงนำดอกเบี้ยจ่าย – ดอกเบี้ยรับ มาหักกลบลบกัน หากโจทก์ทั้งสามเป็นเพียงผู้รับจ้างช่วงจากจำเลย ไม่มีเหตุที่จำเลยจะคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ทั้งสามหรือคิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามจนถึงเสร็จสิ้นโครงการ เพราะโจทก์ทั้งสามก่อสร้างงานเพียงถึงงวดที่ 5 รายรับ – รายจ่ายในการก่อสร้างงานตั้งแต่งวดที่ 8 จนแล้วเสร็จที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างเองจึงเป็นส่วนของจำเลยไม่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งสาม นอกจากนี้ตามรายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 แผ่นที่ 1 ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้าง 5 งวด รวมจำนวน 44,971,200 บาท แต่จำเลยได้ทดรองจ่ายแทนโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 88,184,882.42 บาท ตามรายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 แผ่นที่ 4 เกินกว่าค่าจ้างที่โจทก์ที่ 1 ได้รับถึงประมาณ 21,000,000 บาท หากโจทก์ทั้งสามเป็นผู้รับจ้างช่วงจากจำเลยและก่อสร้างเพียงถึงงานงวดที่ 5 ไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าจำเลยจะไม่เรียกร้องเงินทดรองจ่ายส่วนที่เกินดังกล่าวคืนจากโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยกลับนำเงินที่ทดรองจ่ายแทนโจทก์ที่ 1 ทั้งหมดไปรวมกับรายจ่ายในส่วนที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างเองตั้งแต่งวดที่ 8 จนเสร็จโครงการอีกจำนวน 118,751,399.37 บาท รวมเป็นรายจ่ายจำนวน 182,918,281.79 บาท ดังปรากฏตามรายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 แผ่นที่ 4 พฤติการณ์ดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้รับจ้างช่วงจากจำเลยในการรับจ้างก่อสร้างที่จำเลยทำสัญญารับจ้างกับกรมสามัญศึกษา ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ. 2
ส่วนการที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยชัยภูมิกับกรมสามัญศึกษา และให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ. 2 ต่อกรมสามัญศึกษา ดังที่จำเลยต้องลงทุนและเข้าดำเนินการก่อสร้างเองตั้งแต่งานงวดที่ 8 จนแล้วเสร็จหลังจากที่โจทก์ทั้งสามก่อสร้างเพียงถึงงานงวดที่ 5 แล้วไม่ก่อสร้างต่อ หาใช่เพียงแต่โจทก์ทั้งสามใช้ชื่อจำเลยประมูลงานและทำสัญญาจ้างแทนโจทก์ทั้งสามดังที่โจทก์ทั้งสามนำสืบเท่านั้นไม่ จำเลยจึงไม่ใช่ตัวแทนโจทก์ทั้งสามในการรับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษาดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าว เป็นการตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 และมาตรา 369 แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องโจทก์ทั้งสามกับจำเลยตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ค่าใช้จ่ายกรรมการตรวจรับงานจำนวน 438,000 บาท ค่าใช้จ่ายอาจารย์ใหญ่สำหรับถอนการค้ำประกันจำนวน 81,500 บาท และค่าเช่าเครื่องจักรจำนวน 1,938,480 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเลยไม่ได้จ่ายจริง เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเป็นการร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน หากมีผลกำไรหรือมีค่าใช้จ่ายก็ต้องนำมาแบ่งกันหรือรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อโจทก์ทั้งสามอ้างว่าจำเลยไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสามไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบว่าจำเลยไม่ได้จ่ายเงินจริง จึงฟังไม่ได้ดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกา ส่วนที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามกับจำเลยตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แบบไม่ทบต้น แต่จำเลยคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น จำเลยจึงคิดดอกเบี้ยเกินเป็นเงิน 987,202.78 บาท นั้น โจทก์ทั้งสามก็นำสืบแต่เพียงว่า จำเลยไม่ได้แสดงวิธีการคิด ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ทั้งสามกับจำเลยตกลงคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น ทั้งที่รายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 ระบุว่า คิดดอกเบี้ยทบต้นทั้งโครงการ จึงรับฟังไม่ได้ดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกาเช่นเดียวกัน สำหรับเงินจำนวน 9,505,921.93 บาท ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า จำเลยหักเป็นค่าตอบแทนการใช้ชื่อจำเลยในการประมูลงาน ทั้งที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยมิได้ตกลงเรียกเก็บนั้น ตามรายการสรุปรายรับ – รายจ่าย เอกสารหมาย จ. 4 ระบุว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์งานให้เคซี 5 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับก่อนรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยให้การว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าบริหารงานก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้างในระยะเวลาประกัน 2 ปี เห็นว่า รายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 เป็นรายการรายรับ – รายจ่ายที่จำเลยจัดทำระบุชัดเจนว่าเงินจำนวน 9,505,921.93 บาท เป็นส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์งานให้เคซี จึงไม่อาจรับฟังว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าบริหารงานก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง รวมทั้งค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้างดังที่จำเลยให้การได้ ทั้งจำเลยนำสืบลอย ๆ ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ โดยนายชาญ ประธานกรรมการบริษัทจำเลยเบิกความว่า เงินจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการ ซึ่งเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เงินเดือนพนักงาน ปีละประมาณ 20,000,000 บาท หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่นายชาญเบิกความดังกล่าว ก็ไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าจำเลยจะไม่นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายดังที่ปรากฏรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในรายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 และ ล. 17 โดยเฉพาะในรายการสรุปรายจ่ายเอกสารหมาย ล. 17 มีรายการเงินเดือน – ค่าแรงจำนวน 3,815,299 บาท เงินเดือนฝ่ายบริหาร 12 เดือน เดือนละ 50,000 บาท เป็นเงิน 800,000 บาท และในรายการสรุปรายรับ – รายจ่ายเอกสารหมาย จ. 4 ก็มีรายการประมาณการค่าซ่อมแซมงานทั้งโครงการจำนวน 1,000,000 บาท เงินส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์งานให้เคซีจำนวน 9,505,921.93 บาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าใช้จ่ายส่วนกลางรวมทั้งค่าซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้างและไม่ใช่ค่าบริหารงานก่อสร้างเพราะโจทก์ทั้งสามและจำเลยต้องร่วมกันประกอบการเพื่อผลกำไรอยู่แล้ว แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นผลกำไร โจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงต้องนำมาแบ่งกัน ผลกำไรดังกล่าวเกิดจากการก่อสร้างและส่งมอบงานรวม 14 งวด โจทก์ทั้งสามก่อสร้างและส่งมอบงานเพียง 5 งวด จึงควรได้รับส่วนแบ่งผลกำไรตามสัดส่วนการร่วมประกอบการของโจทก์ทั้งสาม 5 งวด ในผลกำไรจากการก่อสร้างและส่งมอบงาน 14 งวด เป็นเงิน 3,394,972.11 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินผลกำไรจำนวนนี้แก่โจทก์ทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,394,972.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ 19 มิถุนายน 2545 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสาม เฉพาะค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสามชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 200,000 บาท

Share