คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19349/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อของกลางที่ยึดได้ในคดีนี้เป็นดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 บัญญัติให้บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 70 ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีจึงไม่อาจนำดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งแปดและของผู้เสียหายที่ 8 ถึงที่ 11 ออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัลให้แก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับได้ และแม้จะยังมีดีวีดีบางส่วนที่ไม่ทราบตัวผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเจ้าพนักงานได้ยึดไว้เป็นของกลางด้วยก็ตาม แต่เมื่อดีวีดีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หากมีการนำออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัลก็จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายให้กระทำได้ จึงไม่อาจนำดีวีดีนั้นออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ได้ แม้การจ่ายสินบนและรางวัลในกรณีของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 7 วรรคสอง จะให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลก็ตาม แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ปรับ ตามระวางโทษที่มาตรา 27 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติไว้ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับที่จะสั่งจ่ายเป็นสินบนร้อยละสามสิบของค่าปรับแก่ผู้นำจับและจ่ายเป็นรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของค่าปรับแก่เจ้าพนักงานผู้จับตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108, 110 และ 115 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8 และ 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 83 ให้ดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 11 ของกลางจำนวน 33,466 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบดีวีดีที่เหลือทั้งหมด และจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ กับสั่งจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 หรือที่ 12 ที่ 5 หรือที่ 14 ที่ 6 ที่ 7 หรือที่ 13 และที่ 15 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 4 หรือที่ 12 ที่ 5 หรือที่ 14 ที่ 7 หรือที่ 13 และที่ 15 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 หรือที่ 12 ที่ 5 หรือที่ 14 ที่ 6 และที่ 7 หรือที่ 13 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ และเรียกผู้เสียหายที่ 15 ว่า โจทก์ร่วมที่ 8
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และประมวลกฎหมายอาญา 83 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของผู้อื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ส่วนความผิดฐานความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 2 ปี ให้ดีวีดีของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมดตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และริบดีวีดีของกลางที่เหลือทั้งหมด คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดมิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งแปด กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุพันตำรวจโทภพกานต์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สำนักทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีการลักลอบนำดีวีดีภาพยนตร์ ดีวีดีเพลง และดีวีดีเกมคอมพิวเตอร์ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้ามาที่จังหวัดหนองคาย จึงแจ้งโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งน่าจะเป็นผู้เสียหายให้มาแจ้งความร้องทุกข์ หลังจากนั้นวันที่ 3 ธันวาคม 2548 พันตำรวจโทภพกานต์กับพวกพร้อมด้วยนายนิรัญ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ร่วมทั้งแปดเดินทางไปที่จังหวัดหนองคายและขอให้ศาลจังหวัดหนองคายออกหมายค้นบ้านเลขที่ 313 หมู่ที่ 4 ซอยเทศบาล 6 ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ของจำเลยที่ 3 ซึ่งสายลับแจ้งว่าเป็นสถานที่เก็บดีวีดีที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยขอเข้าตรวจค้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เวลา 20 ถึง 24 นาฬิกา ซึ่งสายลับแจ้งว่าจะมีการนำดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาเก็บไว้ในบ้านดังกล่าว แต่ในวันที่ขอหมายค้นพันตำรวจโทภพกานต์ได้รับแจ้งจากสายลับเมื่อเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ว่ามีการลักลอบขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาในจังหวัดหนองคายแล้ว พันตำรวจโทภพกานต์กับพวกจึงแบ่งกำลังออกเป็น 2 ชุด โดยชุดที่หนึ่งมีพันตำรวจโทบรรฑูรย์ เป็นหัวหน้าชุดให้ไปเฝ้าอยู่ที่ปากซอยเทศบาล 6 ส่วนอีกชุดหนึ่งจะคอยเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ที่บริเวณใกล้บ้านเลขที่ 313 ต่อมาเวลาประมาณ 4 นาฬิกา ของวันที่ 4 ธันวาคม 2548 พันตำรวจโทภพกานต์กับพวกสามารถจับจำเลยที่ 1 ได้ในขณะขับรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน กค 8565 หนองคาย ซึ่งบรรทุกดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งแปดและของผู้เสียหายที่ 8 ถึงที่ 11 ที่หน้าปากซอยเทศบาล 6 โดยรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับมานั้นมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อและมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ เจ้าพนักงานตำรวจจึงยึดดีวีดีและรถยนต์ดังกล่าวเป็นของกลาง โดยดีวีดีของกลางบางส่วนมีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรกับสินค้าดีวีดีในจำพวก 9 ของโจทก์ร่วมที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ปรากฏอยู่ด้วย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่สั่งยกคำขอให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับชอบหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับมีสิทธิได้รับสินบนและรางวัล ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 6 และ 7 ศาลจึงต้องสั่งให้จ่ายสินบนและรางวัลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อของกลางที่ยึดได้ในคดีนี้เป็นดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 บัญญัติให้บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 70 ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีจึงไม่อาจนำดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งแปดและของผู้เสียหายที่ 8 ถึงที่ 11 ออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัลให้แก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับได้ และแม้จะยังมีดีวีดีบางส่วนที่ไม่ทราบตัวผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเจ้าพนักงานได้ยึดไว้เป็นของกลางด้วยก็ตาม แต่เมื่อดีวีดีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นหากมีการนำออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัล ก็จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายให้กระทำได้ จึงไม่อาจนำดีวีดีนั้นออกขายเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสินบนและรางวัล ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ได้ แม้การจ่ายสินบนและรางวัลในกรณีของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้และพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 7 วรรคสอง จะให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลก็ตาม แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ปรับตามระวางโทษที่มาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติไว้ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับที่จะสั่งจ่ายเป็นสินบนร้อยละสามสิบของค่าปรับแก่ผู้นำจับและจ่ายเป็นรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของค่าปรับแก่เจ้าพนักงานผู้จับ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้สั่งให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7 และมาตรา 8 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดนำสืบมามีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดมีพันตำรวจโทภพกานต์ผู้จับกุมจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ก่อนจับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2548 พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีบุคคลชื่อเจ๊แดงจะลักลอบนำดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาเก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 313 หมู่ที่ 4 ซอยเทศบาล 6 ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นบ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อส่งเข้ากรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2548 พยานเดินทางไปขอหมายค้นบ้านดังกล่าวเพื่อทำการค้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เวลา 20 ถึง 24 นาฬิกา ตามหมายค้น แต่เมื่อเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ของวันที่ขอหมายค้น พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่าเริ่มมีการลักลอบขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นในวันดังกล่าวโดยใช้เรือข้ามแม่น้ำโขงแล้วนำไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ห่างจากที่จอดเรือประมาณ 200 ถึง 300 เมตร โดยสายลับแจ้งด้วยว่าเมื่อมีการขนดีวีดีมาเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 แล้วจะขนเข้ากรุงเทพมหานครในวันเดียวกันด้วย พยานกับพวกจึงไปซุ่มดูที่บริเวณใกล้บ้านของจำเลยที่ 3 ห่างกันประมาณ 200 เมตร แล้วพยานแยกตัวไปพบกับสายลับเพื่อดูการขนของขึ้นจากเรือ จากนั้นพยานกลับมาจุดที่ซุ่มดูครั้งแรกโดยใช้กล้องส่องทางไกลและเห็นหน้าบ้านของจำเลยที่ 3 เปิดไฟสว่างมีคนเดินเข้าออก แต่ไม่สามารถเข้าตรวจค้นได้เนื่องจากหมายค้นระบุให้ค้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ตั้งแต่เวลา 20 ถึง 24 นาฬิกา พยานเฝ้าดูจนเวลาประมาณ 3 นาฬิกา ของวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เห็นรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นจีวากอน สีขาว หมายเลขทะเบียน กค 8565 หนองคาย แล่นเข้าไปที่บ้านของจำเลยที่ 3 จนเวลาประมาณ 4 นาฬิกา ของวันเดียวกันจึงแล่นออกไป พยานจึงวิทยุแจ้งให้พวกที่เฝ้าอยู่ที่ปากซอยเทศบาล 6 สกัดจับรถยนต์คันดังกล่าวแล้วเดินทางไปสมทบพยานพบจำเลยที่ 1 และนางสาวสุมิตรา ภริยาจำเลยที่ 1 กับกล่องกระดาษสีน้ำตาลใส่ดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นประมาณ 30 ถึง 40 กล่อง ในรถตอนกลางและตอนท้าย พยานสอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับว่ารับจ้างขนดีวีดีดังกล่าวไปส่งที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเจ๊แดงเป็นผู้ว่าจ้างและดีวีดีดังกล่าวนำมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขณะตรวจค้นรถยนต์คันดังกล่าวนายนิรัญ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ร่วมทั้งแปดอยู่ด้วยและร่วมในการตรวจค้นโดยนายนิรัญชี้และยืนยันว่าดีวีดีที่ตรวจค้นพบเป็นดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ และที่ปกหรือหีบห่อยังปรากฏเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรของผู้เสียหายต่างๆ ด้วย พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และเบิกความเกี่ยวกับการสืบสวนวางแผนจับกุมผู้กระทำความผิดคดีนี้ได้อย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน โดยเมื่อพยานได้รับแจ้งจากสายลับแล้วก็แจ้งให้โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งน่าจะเป็นผู้เสียหายทราบเพื่อให้โจทก์ร่วมที่ 1 มาแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อน จากนั้นพยานได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดหนองคายเพื่อขอหมายค้นบ้านเลขที่ 313 หมู่ที่ 4 ซอยเทศบาล 6 ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ของจำเลยที่ 3 ก่อน โดยเดินทางไปพร้อมกับนายนิรัญซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ร่วมทั้งแปดด้วย ทั้งก่อนวางแผนจับกุมพยานยังได้ไปดูที่เกิดเหตุก่อน 2 ถึง 3 ครั้ง ดังนั้น การที่พันตำรวจโทภพกานต์ได้แจ้งให้พวกเจ้าพนักงานตำรวจสกัดจับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้ในรถยนต์ที่แล่นออกมาจากบ้านของจำเลยที่ 3 ในวันเกิดเหตุที่หน้าปากซอยบ้านของจำเลยที่ 3 หลังจำเลยที่ 1 ขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นออกจากบ้านของจำเลยที่ 3 ย่อมแสดงให้เห็นว่า การจับกุมจำเลยที่ 1 เกิดจากการที่พันตำรวจโทภพกานต์กับพวกได้ซุ่มดูเหตุการณ์ที่บริเวณใกล้บ้านของจำเลยที่ 3 มาตลอดโดยใช้กล้องส่องทางไกลตามที่เบิกความจริง
ส่วนที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า การที่พันตำรวจโทภพกานต์กับพวกไม่เข้าจับกุมจำเลยที่ 1 หลังขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นออกจากบ้านของจำเลยที่ 3 ทันที จึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าพันตำรวจโทภพกานต์ไปซุ่มดูเหตุการณ์ที่บ้านของจำเลยที่ 3 จริงนั้น เห็นว่า เมื่อพันตำรวจโทภพกานต์เบิกความว่า ขณะพยานซุ่มดูเหตุการณ์ที่จุดซุ่มดูซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของจำเลยที่ 3 ประมาณ 200 ถึง 300 เมตร พยานต้องใช้กล้องส่องทางไกลดูเหตุการณ์ ด้วยระยะห่างจากจุดซุ่มดูถึงประมาณ 200 ถึง 300 เมตร ดังกล่าวจึงเป็นการยากที่พันตำรวจโทภพกานต์กับพวกจะเข้าจับกุมจำเลยที่ 1 ที่หน้าบ้านของจำเลยที่ 3 ทันทีทันใดนั้นได้ พันตำรวจโทภพกานต์จึงต้องสั่งการทางวิทยุให้ชุดจับกุมซึ่งดักซุ่มอยู่ที่ปากซอยบ้านของจำเลยที่ 3 เข้าทำการสกัดและจับกุมจำเลยที่ 1 การปฏิบัติการของพันตำรวจโทภพกานต์ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการวางแผนจับกุมผู้กระทำความผิดทั่วไปที่ต้องมีการแบ่งหน้าที่กันทำ นอกจากนี้ พันตำรวจโทภพกานต์ยังเบิกความเกี่ยวกับสภาพภายนอกบ้านของจำเลยที่ 3 ได้อย่างละเอียดว่าบ้านของจำเลยที่ 3 มีหลังคาสีแดงมีทางเข้าออกหลังบ้าน ทั้งยังถ่ายภาพบ้านของจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย ดังนั้น การที่พันตำรวจโทภพกานต์ไม่ได้จับจำเลยที่ 1 ทันทีที่หน้าบ้านของจำเลยที่ 3 จึงหาใช่ข้อพิรุธสงสัยที่จะทำให้พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดนำสืบมาเกี่ยวกับการซุ่มดูเหตุการณ์ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังดังอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ไม่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า พันตำรวจโทภพกานต์กับพวกซุ่มดูเหตุการณ์ที่บ้านของจำเลยที่ 3 และเห็นจำเลยที่ 1 ขับรถขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งแปดและของผู้เสียหายที่ 8 ถึงที่ 11 และที่ปกดีวีดีดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วมที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ของกลางออกจากบ้านของจำเลยที่ 3 จริง ส่วนข้อที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้มีชื่อเล่นว่าแดงตามที่สายลับแจ้ง แต่มีชื่อเล่นว่าเพียร ทั้งรูปร่างและลักษณะของเจ๊แดงตามที่นางสาวสุมิตราภริยาจำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ไม่ตรงกับรูปร่างลักษณะของจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า แม้นางสาวสุมิตราเคยให้การในชั้นสอบสวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า เจ๊แดงอายุประมาณ 38 ปี สูงประมาณ 165 เซนติเมตร รูปร่างผอมสูง ไว้ผมยาวประบ่า ผิวดำแดง รูปหน้ากลม ตาเล็กชั้นเดียว จมูกไม่โด่ง คิ้วธรรมดาไม่ต่อ หวีผมแสกด้านซ้ายหูกางเล็กน้อย ริมฝีปากบาง อย่างอื่นปกติ เห็นหน้าหรือรูปถ่ายอีกครั้งพยานจำได้ อยู่ตำบลพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย บ้านของเจ๊แดงเป็นบ้านชั้นเดียวเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา สามีเจ๊แดงเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชื่อเล่นว่าจ่ายาว อยู่ที่สถานีตำรวจภูธรศรีเชียงใหม่ เจ๊แดงมีอาชีพขายของเด็กเล่น เสื้อผ้า และดีวีดีภาพยนตร์โดยนำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยหลบเลี่ยงภาษี และนางสาวสุมิตราได้ให้การอีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2548 หลังจากพนักงานสอบสวนให้นางสาวสุมิตราดูภาพถ่ายในบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 มีชื่อเล่นเรียกกันว่าเจ๊แดง อายุ 40 ปี มีรูปร่างสันทัด สูงประมาณ 155 ถึง 160 เซนติเมตร ไว้ผมยาวประบ่า บางครั้งก็รวบผมและหวีแสกด้านซ้าย หน้ารูปไข่ ตาสองชั้น กันคิ้วให้บางคิ้วไม่ต่อ จมูกและหูปกติ หน้าผากไม่กว้าง ปากไม่หนาไม่บาง คางมน ผิวขาวเหลืองพูดภาษาอีสาน มีอาชีพค้าส่งของเด็กเล่น เสื้อผ้า และชุดชั้นในสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนำดีวีดีภาพยนตร์ส่งให้แก่ลูกค้ามีสามีชื่อนายชัยณรงค์หรือจ่ายาว แม้คำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวสุมิตราครั้งหลังจะแตกต่างกับที่ให้การในครั้งแรกเกี่ยวกับเรื่องรูปร่างลักษณะของเจ๊แดงหรือจำเลยที่ 3 อยู่บ้าง แต่ข้อเท็จจริงอื่นๆ นางสาวสุมิตราก็ยังคงให้การยืนยันในครั้งหลังเหมือนกับที่ให้การไว้ในครั้งแรกว่าเจ๊แดงหรือจำเลยที่ 3 อายุ 40 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับที่ให้การครั้งแรกว่า อายุ 38 ปี และมีสามีเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชื่อจ่ายาว กับมีอาชีพขายของเด็กเล่น เสื้อผ้า และดีวีดีภาพยนตร์ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเหมือนกับที่ให้การไว้ในครั้งแรก ทั้งเมื่อนางสาวสุมิตรามาเบิกความต่อศาลก็สามารถชี้ตัวจำเลยที่ 3 ในห้องพิจารณาได้ถูกต้อง คำให้การในชั้นสอบสวนของนางสาวสุมิตราซึ่งแม้จะมีข้อแตกต่างระหว่างคำให้การในครั้งแรกและครั้งหลังในเรื่องลักษณะรูปร่างของจำเลยที่ 3 จึงไม่ถึงกับเป็นข้อพิรุธที่ทำให้คำให้การดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดว่าจำเลยที่ 3 คือบุคคลที่มีชื่อเล่นว่าเจ๊แดงตามที่นางสาวสุมิตราให้การในชั้นสอบสวน นอกจากนี้ ในชั้นพิจารณานางสาวสุมิตราก็ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 3 ด้วยว่าจำเลยที่ 3 มีชื่อเล่นว่าเพียรและชื่อแดงด้วย ดังนั้น ข้อที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 มีชื่อเล่นว่าเพียรเพียงชื่อเดียวไม่มีชื่อเล่นว่าแดง โดยในชั้นพิจารณามีเพียงตัวจำเลยที่ 3 มาเบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดในส่วนที่นำสืบว่าจำเลยที่ 3 มีชื่อเล่นว่าแดง
ส่วนข้อที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เกิดจากการจูงใจของเจ้าพนักงานตำรวจที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ดำเนินคดีแก่นางสาวสุมิตรา และคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวสุมิตราเป็นคำซัดทอดเพื่อให้ตนพ้นผิด จึงนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางสาวสุมิตราเป็นเพียงภริยาจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งรถมาด้วยกันขณะจำเลยที่ 1 ถูกจับและไม่ได้ถูกฟ้องดำเนินคดีนี้ด้วย คำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวสุมิตราตามบันทึกคำให้การลงวันที่ 4 ธันวาคม 2548 จึงไม่ใช่คำซัดทอดของผู้กระทำความผิดด้วยกันและสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดได้ ส่วนคำให้การของจำเลยที่ 1 นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพจะปล่อยนางสาวสุมิตราไป แต่ไม่ปรากฏว่านางสาวสุมิตราเบิกความสนับสนุนในข้อนี้ด้วย จึงมีเพียงจำเลยที่ 1 มาเบิกความลอยๆ ไม่มีเหตุผลพอให้เชื่อว่าคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จะเกิดจากการจูงใจของพนักงานสอบสวน อันเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ และต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 เมื่อบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2548 มีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการรับจ้างขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นจากบุคคลที่มีชื่อเล่นว่าเจ๊แดงหรือจำเลยที่ 3 รวมทั้งมีรายละเอียดเกี่ยวกับตำหนิรูปพรรณ อายุ อาชีพ ที่อยู่ของเจ๊แดง และชื่อสามีกับอาชีพของสามีเจ๊แดงซึ่งเป็นเรื่องยากที่จำเลยที่ 1 จะปั้นแต่งขึ้นเองได้ในวันที่ถูกจับและสอบสวน แม้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตาม จะเป็นคำซัดทอดถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งแปดและของผู้เสียหายที่ 8 ถึงที่ 11 และที่ปกดีวีดีดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วมที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ของกลางก็ตาม แต่ก็มิใช่คำซัดทอดเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นความผิด คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดเพื่อลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดยังมีหลักฐานการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 ตามแผนผังข้อมูลการใช้โทรศัพท์บุคคล ซึ่งระบุว่า จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อทางโทรศัพท์กับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 016012142 ซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 3 จริง โดยจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ไปยังหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 3 จำนวน 2 ครั้ง และจำเลยที่ 1 ยังใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขอื่นซึ่งเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวก็ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 3 อีกทอดหนึ่งด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ร่วมกันกระทำความผิดโดยมีเครือข่ายร่วมกัน และแผนผังข้อมูลการใช้โทรศัพท์บุคคลนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดมีนางสาวสิริกัญญา เจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเป็นผู้จัดทำแผนผังข้อมูลการใช้โทรศัพท์บุคคลมาเบิกความยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวอีกด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ยอมรับตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 27 เมษายน 2549 ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 016012142 เป็นหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 3 จริง แต่จำเลยที่ 3 กลับอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 ได้เลิกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 016012142 นานแล้วโดยไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ว่าได้เลิกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวจริงหรือไม่อย่างไร คงยกขึ้นกล่าวอ้างลอยๆ ในอุทธรณ์เท่านั้น จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า แผนผังแสดงข้อมูลการใช้โทรศัพท์บุคคล ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นการตรวจหรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกันอันจะกระทำมิได้ ทั้งไม่ใช่การกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 049562914 ที่ตรวจสอบเป็นของจำเลยที่ 1 และมีการขยายการตรวจสอบไปยังหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยที่ 1 ติดต่อซึ่งรวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 016012142 ของจำเลยที่ 3 ด้วยนั้น เป็นการตรวจสอบหาพยานหลักฐานเพื่อนำมาใช้ยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 อันเป็นการที่เจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่เพื่อปราบปรามผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย การตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยที่ 1 ติดต่อซึ่งรวมถึงหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 3 ด้วยตามแผนผังแสดงข้อมูลการใช้โทรศัพท์บุคคล จึงเป็นการกระทำไปตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน มิใช่การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 36 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เจ้าพนักงานทำเอกสาร ดังอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด นอกจากนี้ ข้อที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเนื่องจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรู้จักกับสามีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 3 จึงเข้าค้ำประกันแทนสามีนั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างลอยๆ และไม่มีเหตุผลสนับสนุนให้เห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว แม้การเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 โดยตรง แต่ก็เป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เก็บดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขับรถไปส่งดีวีดีดังกล่าวที่กรุงเทพมหานคร การเข้าค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่สนับสนุนให้พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งแปดนำสืบมาทั้งหมดมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้มั่นคงและรับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์ขนของกลางซึ่งเป็นดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งแปดและของผู้เสียหายที่ 8 ถึงที่ 11 และที่ปกดีวีดีดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรกับสินค้าดีวีดีในจำพวก 9 ของโจทก์ร่วมที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 และเป็นดีวีดีที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียภาษีอากรและมีเจตนาหลีกเลี่ยงอากรสำหรับของนั้น จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสองประกอบมาตรา 31 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่รับจ้างขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และมีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในราชอาณาจักรของผู้อื่นจำนวนมากถึง 33,466 แผ่น ซึ่งดีวีดีดังกล่าวเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงอากร การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องร้ายแรงเพราะเป็นการกระทำความผิดที่มุ่งแต่จะได้รับค่าจ้างอันเป็นประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงการกระทำความผิดของตนว่าจะเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติและสังคมโดยรวม ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้สำนึกในการกระทำความผิดของตนโดยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี และจำเลยที่ 1 ยังมีพฤติการณ์รับจ้างขนดีวีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาก่อนจนถูกดำเนินคดีมาแล้ว แต่ไม่เข็ดหลาบ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงผู้รับจ้างและไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนกับมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้ว กรณียังไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share