แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงที่จะ นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจำเลยฎีกาว่าผู้ทำพินัยกรรม มิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และมิได้ลงชื่อกำกับ รอยขีดฆ่าตกเติม จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ คงต่อสู้ เพียงว่า หากมารดาจำเลยลงชื่อในพินัยกรรมก็เกิดจากการฉ้อฉล ของโจทก์ ดังนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 ตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาว่า พินัยกรรมรายนี้ไม่สมบูรณ์เพราะผู้ทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน และพินัยกรรมมีรอยขีดฆ่าตกเติมบางแห่งโดยมิได้ลงชื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานสองคนกำกับไว้ปัญหาที่จำเลยนั้นฎีกาดังกล่าวนี้ จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ามาในศาลชั้นต้น เป็นเรื่องนอกประเด็นจากคำให้การของจำเลย จริงอยู่ปัญหาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนั้น จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การไม่ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5), 246, 257
พิพากษายกฎีกาของจำเลย คืนค่าขึ้นในชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ