แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะนายจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 8 (4) ซึ่งการพิจารณาคดีแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ วิธีพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความ หลักในการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้แล้วหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ เพราะการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการสอบสวนไว้โดยเฉพาะ ทั้งกระทำการสอบสวนและใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเพียงลำพังคนเดียว การสอบสวนหาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานจึงอาจมีข้อบกพร่องได้ ฉะนั้น ในการพิจารณาคดีแรงงานคู่ความย่อมมีสิทธิอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น
ผลของคดีที่นายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานอาจกระทบถึงสิทธิจากลูกจ้าง หากนายจ้างมิได้ฟ้องลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยในคดีด้วยศาลแรงงานก็ควรที่จะเรียกลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมอยู่แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้อง ณ. ลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยที่ 2 แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในชั้นตรวจรับคำฟ้องจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนเสียด้วยเพื่อให้ ณ. ลูกจ้างยังคงเป็นคู่ความในคดีต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ ต่อมาโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ละทิ้งการงานไปเป็นการจงใจทำให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ต่อมาจำเลยที่ 2 ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 5 ที่ 24/2547 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยที่ 1 วินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งไปโดยสอบสวนคำร้องจำเลยที่ 2 เพียงอย่างเดียว ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พื้นที่ 5 ที่ 24/2547 ของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 38,867 บาท แก่จำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์จึงให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังเพียงเหตุผลที่เกิดขึ้นในชั้นของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงใหม่อันเกิดจากการนำสืบพยานของทั้งสองฝ่ายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะนายจ้างจำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลาง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 อันเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) ซึ่งการพิจารณาคดีแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะวิธีพิจารณาคดีแรงงานในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความ หลักในการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้แล้ว หาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ เพราะการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานมิได้มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดวิธีการสอบสวนไว้โดยเฉพาะ ทั้งกระทำการสอบสวนและใช้ดุลพินิจออกคำสั่งเพียงลำพังคนเดียว การสอบสวนหาข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานจึงอาจมีข้อบกพร่องได้ ฉะนั้น ในการพิจารณาคดีแรงงาน คู่ความย่อมมีสิทธิอ้างพยานหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติมต่อศาลแรงงานได้ ส่วนพยานหลักฐานที่คู่ความอ้างเพิ่มเติมจะรับฟังได้เพียงใดขึ้นอยู่กับน้ำหนักของพยานหลักฐานนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งโดยการสอบสวนคำร้องของจำเลยที่ 2 เพียงอย่างเดียว และจำเลยที่ 2 ละทิ้งงานที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องที่โจทก์สามารถออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ทำงานล่วงเวลาได้เป็นการจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ศาลแรงงานกลางจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริง รวมทั้งพิจารณาว่ากระบวนการสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยชอบหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงคดีนี้ในประเด็นที่ว่าโจทก์ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยพิจารณาแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฟังพยานหลักฐานหรือสอบสวนตามคำร้องของจำเลยที่ 2 เพียงอย่างเดียว แต่ได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ด้วยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งไปโดยมิชอบ โดยศาลแรงงานกลางมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์สืบเพิ่มเติมไว้ในชั้นพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เพื่อให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบในการพิจารณาคดีต่อไป
อนึ่ง ผลของคดีที่นายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานอาจกระทบถึงสิทธิของลูกจ้าง หากนายจ้างมิได้ฟ้องลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยในคดีด้วย ศาลแรงงานก็ควรที่จะเรียกลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยร่วมอยู่แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องนางณิชากรลูกจ้างเข้ามาเป็นจำเลยที่ 2 แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในชั้นตรวจรับคำฟ้องจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนเสียด้วยเพื่อให้นางณิชากรลูกจ้างยังคงเป็นคู่ความในคดีต่อไป”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความในคดีต่อไป และให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและเหตุผลที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 ตามที่ปรากฏในชั้นพิจารณาคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป