คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5014/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยเมื่อเห็นสมควรศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเหล่านั้นไปได้โดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ ข. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1และที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อไปชนรถยนต์ที่ ส.ขับทำให้ส.ได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัวไม่สามารถไปประกอบหน้าที่การงานให้โจทก์ได้ตามปกติ การกระทำละเมิดของ ช. ดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากแรงงานของ ส. ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ ส. ในระหว่างนั้น โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ประกอบด้วยมาตรา 425 และ มาตรา 887 แม้จำเลยที่ 3 จะจ่ายค่าขาดประโยชน์แรงงานให้ ส. ไปแล้วและระหว่างที่ ส.พักรักษาตัวเนื่องจากถูกรถชนส. มีสิทธิลาป่วยได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ส.ที่จะฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากแรงงานจากจำเลยอีก โจทก์เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยค้ำจุนไว้ จึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 โดยตรง เกิดเหตุละเมิดเมื่อเวลา 20 นาฬิกาเศษของวันศุกร์ ที่ 22กรกฎาคม 2526 ซึ่งเป็นช่วงนอกเวลาราชการ ที่จังหวัดนครสวรรค์ส. ได้รับบาดเจ็บมากคงไม่สามารถไปรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบได้ในวันนั้นจึงเชื่อว่าโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานครคงไม่รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวจำเลยที่ 2ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันนั้น อย่างเร็วที่สุดโจทก์จะรู้ในวันเปิดทำการคือวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2526 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2527 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์มิใช่ผู้ต้องเสียหายโดยตรง แต่เป็นเพียงนายจ้างที่ต้องขาดแรงงานไปเท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิดและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน 80-5023 เพชรบูรณ์ และเป็นนายจ้างของนายชลอหรือแจ้ว อบสินธ์ุ จำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน นายชลอได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยขับรถด้วยความเร็วสูงแล้วเลี้ยวขวาตัดหน้ารถยนต์เก๋งเลขทะเบียน2 ก-0136 กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายสมัย รักจำรูญ เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน และนายสมัยได้รับอันตรายสาหัสต้องพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน 2 วัน โจทก์ได้จ่ายเงินเดือนให้นายสมัยในระหว่างเวลาดังกล่าวรวมเป็นเงิน 8,055 บาท โดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากแรงงานของนายสมัยตามปกติ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 8,055 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิด
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า นายสมัย รักจำรูญ ไม่ใช่ลูกจ้างโจทก์ นายชลอ อบสินธ์ุ ไม่ใช่ลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 นายสมัยมีส่วนประมาทอยู่ด้วย จำเลยที่ 3ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมถึงค่าขาดประโยชน์อื่น ๆ ให้แก่นายสมัยไปแล้ว ทั้งตามปกตินายสมัยมีสิทธิลาป่วยโดยโจทก์ต้องจ่ายเงินเดือนให้ กรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ 3 คุ้มครองเฉพาะตัวผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้น ไม่มีผลรวมไปถึงนายจ้างของผู้เสียหายในการเรียกค่าเสียหายจากการขาดแรงงาน ค่าขาดแรงงานที่เรียกมาสูงเกินไป ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า ในกรณีที่นายชลอ หรือแจ้ว อบสินธ์ุ ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2ขับรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ที่นายสมัยขับเป็นเหตุให้นายสมัยได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัว ไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานให้โจทก์ได้ตามปกติ และโจทก์ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่นายสมัยตามสัญญาจ้างในระหว่างที่นายสมัยพักรักษาตัวโดยโจทก์ไม่ได้รับการปฏิบัติงานตอบแทนจากนายสมัยในระหว่างนั้นในกรณีเช่นนี้ จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับเงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้นายสมัยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า นายสมัยเป็นพนักงานของโจทก์ที่จะต้องประกอบการงานให้แก่โจทก์เป็นประจำ ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายชลอเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อไปชนรถยนต์ที่นายสมัยชน ทำให้นายสมัยได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัวไม่สามารถไปประกอบหน้าที่การงานให้โจทก์ได้ตามปกติการกระทำละเมิดของนายชลอดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากแรงงานของนายสมัย ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่นายสมัยในระหว่างนั้น โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ประกอบด้วยมาตรา 425และมาตรา 887 สำหรับประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยมีดังนี้ 1. นายชลอ หรือแจ้ว อบสินธ์ุ เป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ 2. นายชลอขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่เพียงใด 3. การที่จำเลยที่ 3 จ่ายค่าขาดประโยชน์แรงงานให้แก่นายสมัยไปแล้ว กับระหว่างที่นายสมัยพักรักษาตัวเนื่องจากถูกรถชนนายสมัยมีสิทธิลาป่วยได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากแรงงานจากจำเลยที่ 2และที่ 3 อีกได้ หรือไม่ 4. ค่าขาดประโยชน์จากแรงงานที่โจทก์จ่ายให้แก่นายสมัยเป็นจำนวนเท่าใด 5. กรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ 3ที่คุ้มครองความเสียหายของบุคคลภายนอก หมายถึงเฉพาะตัวผู้เสียหายหรือคุ้มครองเลยไปถึงนายจ้างของผู้เสียหายด้วย และ 6. คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ในประเด็นข้อ 1 …ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่านายชลอหรือแจ้ว อบสินธ์ุเป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ประเด็นข้อ 2 …การกระทำของนายชลอเป็นการประมาทเลินเล่อแต่ผู้เดียวประเด็นข้อ 3 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 3 จ่ายค่าขาดประโยชน์แรงงานให้แก่นายสมัยไปแล้ว และระหว่างที่นายสมัยพักรักษาตัวเนื่องจากถูกรถชนนายสมัยมีสิทธิลาป่วยได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิ โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างนายสมัยที่จะฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากแรงงานจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 อีก ประเด็นข้อ 4 …โจทก์ต้องขาดแรงงานนายสมัยไปคิดเป็นเงิน 8,055 บาท ประเด็นข้อ 5 คู่ความรับกันว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2คันที่เกิดเหตุ ตามสำเนากรมธรรม์เอกสารหมาย จ.9 เป็นการรับประกันภัยประเภทรับผิดต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นการประกันภัยค้ำจุนเมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้ โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 3 โดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรค 1 และวรรค 2ส่วนประเด็นข้อสุดท้ายตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด จำเลยที่ 2 เองก็ไม่นำสืบ แต่อย่างไรก็ดีปรากฏจากคำเบิกความของนายสมัยว่าเกิดเหตุเวลา 20 นาฬิกาเศษ ของวันศุกร์ ที่22 กรกฎาคม 2526 ซึ่งเป็นช่วงนอกเวลาราชการ ที่ตำบลบ้านแก่ง(ที่ถูกเป็นสี่แยกบ้านแก่ง ตำบลนครสวรรค์ตก) อำเภอเมืองนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์ นายสมัยได้รับบาดเจ็บกระดูกไหปลาร้าหักฐานกะโหลกศีรษะบริเวณกกหูซ้ายร้าว กับมีบาดแผลที่ใบหน้าและร่างกายต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครสวรรค์ คงไม่สามารถไปรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบได้ทันในวันนั้นจึงเชื่อว่าโจทก์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ ที่กรุงเทพมหานคร คงไม่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 2 ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันนั้น อย่างเร็วที่สุดโจทก์จะรู้ ในวันที่เปิดทำการคือวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2526 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม2527 ยังไม่พ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจำเลยที่ 2 ผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 สำหรับคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏตามสำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.4 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่งรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน 80-5023 เพชรบูรณ์ และศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่านายชลอเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กระทำกิจการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันจากรถยนต์บรรทุกนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตามจำนวนเงินดังได้วินิจฉัยมาแล้ว อนึ่งที่โจทก์ฟ้องโดยคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสามนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี ด้วยนั้น โจทก์มิใช่ผู้ต้องเสียหายโดยตรง แต่เป็นเพียงนายจ้างที่ต้องขาดแรงงานไปเท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิดและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามผิดนัดตั้งแต่เมื่อใดโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดี
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,055 บาทให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.

Share