คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและให้อัยการสูงสุดฟ้องคดียังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน ฉะนั้นความหมายของคำว่าข้าราชการการเมืองอื่นตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งทางการเมืองที่กล่าวไว้โดยเฉพาะ มิใช่ข้าราชการการเมืองทั่วไป ทั้งความหมายของคำว่า ข้าราชการการเมืองอื่นตามคำนิยามศัพท์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 (5) ก็บัญญัติไว้แยกต่างหากจากคำว่าผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 4 (7) ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่จำเลยดำรงตำแหน่ง มิได้อยู่ในความหมายของคำว่าข้าราชการการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 คดีของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 65 และนับโทษต่อจากคดีอาญาทั้งสามคดีดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 65 (ที่ถูก ไม่ต้องระบุพระราชบัญญัติสภาตำบลฯ มาตรา 65) จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เมื่อศาลรอการลงโทษไว้ จึงไม่อาจนับโทษในคดีนี้ต่อกับโทษของจำเลยในคดีอื่นได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย ข้อบัญญัติ ข้อบังคับ ประกาศ และระเบียบแบบแผนของทางราชการ รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรได้รับหนังสือ ด่วนมาก ที่ มท.0881.12/1251 จากอำเภอสองพี่น้อง ให้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถร 9 โรงเรียน รวมเป็นเงิน 338,500 บาท และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโอนเงินแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรเพื่อเบิกจ่ายแก่โรงเรียนในสังกัดก่อนเปิดภาคเรียนวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ต่อมาจำเลยเบิกจ่ายเงินแก่โรงเรียนทั้ง 9 แห่ง ช้ากว่ากำหนดเป็นเวลา 3 เดือนเศษ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรแล้วถึง 2 สมัย เกี่ยวกับเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะโอนเงินให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรทุกปี เพื่อเบิกจ่ายแก่โรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุน จำเลยมีหน้าที่เบิกจ่ายเงินให้แก่โรงเรียนไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอง ซึ่งจำเลยทราบข้อบังคับและแนวปฏิบัติดี แต่จำเลยกลับมีหนังสือแจ้งแก่โรงเรียนในสังกัดให้มาทำสัญญาจ้างเหมาอาหารกลางวันกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลโดยไม่ยอมโอนเงินให้แก่โรงเรียน เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พฤติการณ์ส่อไปในทางแสวงหาประโยชน์ การที่ไม่ยอมโอนเงินไปตามที่เคยปฏิบัติมีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ โรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียนแล้ว แม้ในภายหลังจำเลยจะโอนเงินให้โรงเรียนในสังกัด ก็เป็นเวลาล่วงเลยมาถึง 3 เดือนเศษ จนมีผู้ร้องเรียนและเกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงเรียนไม่มีเงินจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยนั้นไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
มีปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนและฟ้องจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางตาเถรไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 นั้น ต้องเป็นการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งตามที่บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น คำว่า ข้าราชการการเมืองอื่น บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมิได้ให้ความหมายไว้ จึงต้องพิจารณาตามความหมายในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งข้าราชการการเมืองนั้น นอกจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแล้ว ยังรวมถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการทบวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงและรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงด้วย อีกทั้งยังหมายถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจนถึงผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเงินและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 70 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูลความผิดตามมาตรา 66 ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป จะเห็นได้ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและให้อัยการสูงสุดฟ้องคดียังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการพิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน ฉะนั้นความหมายของคำว่าข้าราชการการเมืองอื่นต้องอยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งทางการเมืองที่กล่าวไว้โดยเฉพาะ มิใช่ข้าราชการการเมืองทั่วไป ทั้งความหมายของคำว่าข้าราชการการเมืองอื่นตามคำนิยามศัพท์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 (5) ก็บัญญัติไว้แยกต่างหากจากคำว่าผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 4 (7) แม้จำเลยเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารองค์กร แต่องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเพียงราชการบริหารส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบน้อยกว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผู้บริหารระดับชาติเป็นอย่างมาก ดังนั้น ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่จำเลยดำรงตำแหน่ง จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่าข้าราชการการเมืองอื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 คดีของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำแก้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1538/2555 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1756/2552 ของศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลรอการลงโทษ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 71/2555 ของศาลชั้นต้น คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา จึงให้ยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์

Share