คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22089/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสองและเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีกา แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ป.รัษฎากร มาตรา 103 นิยามคำว่า ขีดฆ่า หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นำแสตมป์นั้นมาใช้อีกอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าอากร เมื่อปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่ามีการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์แล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์ และไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้บนอากรแสตมป์นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแล้ว จึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปด้วยการส่งมอบให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมา จึงเป็นผู้ถือย่อมเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ จำเลยผู้ถูกฟ้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทไม่อาจต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 268,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีท้ายฟ้องของโจทก์ปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสองและเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง จำเลยฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องปิดอากรแสตมป์ไว้จริง แต่ไม่ได้ขีดฆ่าตามที่กฎหมายบัญญัติ คือไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดคร่อม ไม่ได้ลงลายมือชื่อหรือประทับตรานิติบุคคลไว้บนอากรแสตมป์นั้นเลย ขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 103 นั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 103 นิยามคำว่า ขีดฆ่า หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นำแสตมป์นั้นมาใช้อีกอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าอากร เมื่อปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่ามีการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์แล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์ และไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้บนอากรแสตมป์นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าที่สมบูรณ์สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแล้ว จึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปด้วยการส่งมอบให้แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมา จึงเป็นผู้ถือ ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ กรณีเช่นนี้ จำเลยผู้ถูกฟ้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทหาอาจต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนนั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า นางสมปองกับนางวรรณาได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 250,000 บาท ไม่มีสัญญากู้เงิน แต่บุคคลทั้งสองได้นำเช็คพิพาทให้ยึดถือไว้เป็นประกัน และจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่เคยไปขอกู้เงินจากโจทก์ ไม่เคยมอบเช็คให้แก่โจทก์เลย หากแต่จำเลยเคยไปขอกู้เงินจากนายเฉลิมพงษ์ซึ่งเป็นพี่ชายหรือน้องชายโจทก์ ไม่ได้ทำสัญญากู้เงิน แต่ได้นำเช็คพิพาทมอบให้นายเฉลิมพงษ์ยึดถือไว้เป็นประกัน ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าจำเลยไปขอกู้เงินจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยได้มอบเช็คพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ นั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าว ล้วนแต่เป็นฎีกาที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงผิดแผกไปจากที่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์และตามคำให้การของจำเลยทั้งสิ้น เพราะตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องว่านางสมปองและนางวรรณาขอกู้ยืมเงินโจทก์โดยบุคคลทั้งสองนำเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายมาแลกเงินไปจากโจทก์ และจำเลยให้การว่านางวรรณาไปกู้ยืมเงินจากนายเฉลิมพงษ์น้องชายโจทก์ นางวรรณาโดยจำเลยได้มอบเช็คพิพาทให้แก่นายเฉลิมพงษ์ยึดถือไว้เป็นประกัน ประเด็นข้อพิพาทจึงหาได้เป็นดังที่จำเลยฎีกาไม่ หากแต่เป็นเรื่องที่จำเลยให้การต่อสู้คดีด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยกับนายเฉลิมพงษ์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้โจทก์ ซึ่งจำเลยหาอาจทำเช่นนั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์จะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล แต่เมื่อจำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งและไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะนำสืบดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว คดีจึงวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์และจำเลย เมื่อเช็คพิพาทเป็นตราสารที่โอนเปลี่ยนมือกันได้เพียงส่งมอบให้แก่กัน นายเฉลิมพงษ์เป็นผู้ทรงคนก่อนย่อมมีสิทธิโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ผู้รับโอนเช็คพิพาทมาก็หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยไม่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share