คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5430/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่า ท่าเทียบเรือบี 3 เป็นทรัพย์สินของ กทท. ที่ใช้ในกิจการสาธารณะโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ จึงเป็นหน้าที่ของ กทท. ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกคำขอ กทท. ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 เมื่อไม่ปรากฏว่า กทท. ได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงยังมิได้สอบสวนว่าทรัพย์สินนั้นควรจะได้รับยกเว้นหรือไม่ และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางเพื่อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 และมาตรา 34 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246
ปัญหาว่าค่ารายปีควรเป็นเท่าใดนั้น เป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินและจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินนั้นมีจำนวนสูงเกินสมควร กทท. จึงต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคท้าย แต่ไม่ปรากฏว่า กทท. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อ กทท. ยังไม่ดำเนินการตามมาตรา 31 วรรคท้าย กทท.และโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2552 และคำชี้ขาดสำหรับท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเทียบเรือบี 3 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 13,315,465.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หรือให้แก้ไขการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 8,776,555.55 บาท หรือให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 12,321,583.55 บาท ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ชำระให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนด ค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเทียบเรือบี 3 ณ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเข้าประกอบกิจการท่าเทียบเรือ ตามสัญญามีข้อสัญญาให้โจทก์ชำระค่าภาษีต่าง ๆ ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องจ่ายตามกฎหมาย การท่าเรือแห่งประเทศไทยยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปีภาษี 2552 สำหรับท่าเทียบเรือบี 3 ต่อจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยกำหนดค่ารายปีสำหรับท่าเทียบเรือบี 3 จำนวน 106,523,724.44 บาท คิดเป็นค่าภาษี 13,315,465.55 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยและการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้แจ้งผลการพิจารณาชี้ขาดแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่เห็นด้วยแต่ได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามการประเมินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ไปก่อนเพื่อใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่โจทก์ใช้ประกอบกิจการท่าเทียบเรือตามสัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเทียบเรือบี 3 ณ ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังเป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาที่โจทก์ทำกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยแม้จะระบุชื่อสัญญาเป็นสัญญาก็เช่าตาม แต่โดยเนื้อหาของสัญญามีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานให้โจทก์เข้าบริหารและประกอบกิจการท่าเรือตามอำนาจหน้าที่อันเป็นวัตถุประสงค์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นอาคารและที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ให้เช่า จึงได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 17 ทั้งท่าเทียบเรือบี 3 เป็นทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการสาธารณะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) ด้วย ปัญหานี้ เห็นว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสัญญาเช่าสำหรับการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเทียบเรือบี 3 แล้ว ปรากฏว่านอกจากมีข้อสัญญาอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือแล้ว ยังมีข้อสัญญาเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวคือ ตามสัญญาข้อ 2 วรรคหนึ่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทยยินยอมให้เช่าและโจทก์ผู้เช่าตกลงที่จะเช่าท่าเทียบเรือตู้สินค้าท่าเทียบเรือ บี 3 สำหรับพัฒนาบริหารและประกอบการให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขดังระบุในสัญญาฉบับนี้และภาคผนวกต่าง ๆ ซึ่งในภาคผนวกเอ : เงื่อนไขของสัญญา ข้อ 1.9 วรรคสอง ระบุว่า “…ผู้เช่าจะต้องจดทะเบียนเป็นสัญญาเช่ากับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจและรับผิดชอบต่อค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน…” ข้อ 2.1 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “สัญญานี้ครอบคลุมถึง การเช่าท่าเทียบเรือ และการให้บริการทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเช่า โดยจะต้องชำระเงินให้แก่ กทท. (การท่าเรือแห่งประเทศไทย) ตามที่ระบุไว้ในส่วนที่ 3” ข้อ 2.6 ระบุว่า “…จะให้เช่าช่วงการบริหารงานท่าเทียบเรือมิได้ แต่อาจให้เช่าช่วงงานบางประเภทได้โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก กทท.ก่อน…” ข้อ 7.1 “…โครงสร้างพื้นฐานที่ กทท. จัดให้ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก ดังต่อไปนี้ ท่าเทียบเรือตู้สินค้า ท่าเทียบเรือ บี 3 ความยาวของท่า 300 เมตร ท่าเทียบเรือ 300 เมตร คูณ 350 เมตร สถานีขนถ่ายตู้สินค้า 115.5 เมตร คูณ 40 เมตร ประตู สำนักงานและโรงซ่อม…” ข้อ 7.2 “เครื่องมือที่ กทท. จัดให้ผู้เช่าไว้ใช้งานที่ท่าเทียบเรือ บี 3 มีดังต่อไปนี้ ปั้นจั่นหน้าท่ายกตู้สินค้าชนิดเดินบนรางขนาด 40 ตัน 2 คัน พร้อมโครงเหล็กยกตู้สินค้า สำหรับเรือที่มีความสูงสุด 32.2 เมตร” ข้อ 7.4.1 วรรคหนึ่ง “ผู้เช่าต้องรับผิดชอบในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือทั้งหมดภายในท่าเทียบเรือของตนโดยตลอด…” เงื่อนไขการประกันภัย ข้อ 6 (เอ) ผู้เช่าต้องทำประกันภัยเต็มจำนวนมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ กทท. และที่ตนจัดมาบริการให้ตามที่ระบุในสัญญา โดยระบุให้ กทท. เป็นผู้ได้รับประโยชน์ตามรายการทรัพย์สินต่อท้ายนี้ หากเกิดการสูญหายหรือเสียหายดังระบุไว้ข้างต้น” และข้อสัญญาการชำระเงินตามข้อ 3.2 “ผู้เช่าต้องชำระเงินให้แก่ กทท. ซึ่งได้แก่ ค่าเช่าที่มีสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่ง ค่าธรรมเนียมการเช่าประจำปี เป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าที่ กทท. เป็นผู้กำหนดและส่วนที่สองคือ ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติม ซึ่งผู้เช่าจะเป็นผู้เสนอให้ กทท. โดยคิดจากจำนวนต่อทีอียู ที่บรรทุกขนถ่ายที่ท่าเทียบเรือตามจำนวน ทีอียู ที่ทำการขนถ่ายและบรรทุก จากขึ้นเรือสินค้า รายละเอียดเงื่อนไขการชำระเงินได้ระบุไว้ในภาคผนวกบี หากผู้เช่ามิได้ชำระค่าเช่าภายในกำหนดเวลา กทท. มีสิทธิที่จะได้รับการชำระเงินโดยจะบังคับให้ชำระค่าเช่าที่ครบกำหนดชำระได้จากหนังสือค้ำประกันการเช่าและผู้เช่าจะต้องยื่นหนังสือค้ำประกันการเช่าฉบับใหม่เต็มจำนวนภายในสามสิบวัน หากผู้เช่ามิได้ดำเนินการ กทท. จะบอกเลิกสัญญาเช่าอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของผู้เช่าเอง” ซึ่งข้อความตามสัญญาและภาคผนวกล้วนแสดงให้เห็นว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยยอมให้โจทก์ใช้ทรัพย์สินและโจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษากับเอาประกันภัยทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมทั้งการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์และยังมีการกำหนดค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องชำระแก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยตามรายละเอียดในภาคผนวก บี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่ตามที่ระบุไว้เป็นตัวเลขค่าธรรมเนียมแน่นอนสำหรับปีที่ 1 ถึง ปีที่ 11 ของการเช่า ค่าธรรมเนียมผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมคิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องรับกันกับข้อสัญญาการชำระค่าเช่าตามข้อ 3.2 ข้างต้น อันแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์เป็นเช่นเดียวกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าและผู้เช่าตามสัญญาเช่าทรัพย์และแม้การชำระเงินเป็นค่าตอบแทนในการที่โจทก์ได้รับสิทธิตามสัญญานี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่และค่าธรรมเนียมผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมที่คิดตามปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าต่ำสุดตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาคผนวกบี ซึ่งอาจมีบางส่วนที่คิดเป็นค่าตอบแทนในการให้สิทธิโจทก์ได้เข้าดำเนินการท่าเรือเพื่อแสวงหากำไรเป็นของโจทก์ได้ก็ตาม แต่ก็มีค่าธรรมเนียมการเช่าคงที่ซึ่งอย่างน้อยย่อมคิดในลักษณะเป็นค่าเช่าเป็นผลตอบแทนจากการที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าท่าเทียบเรือบี 3 ด้วย ทั้งนี้โจทก์ก็บรรยายฟ้องข้อ 5.2 ว่า ตามสัญญาในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 เรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2552 โจทก์ยอมรับว่าเสียค่าตอบแทนคงที่รายปีให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำนวน 120,000,000 บาท จริง แต่ค่าตอบแทนไม่ใช่เงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินและอาคารในท่าเทียบเรือ บี 3 เพียงอย่างเดียว ยังคงมีค่าตอบแทนการได้รับสัมปทานตลอดจนค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์รวมอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นการยอมรับว่า ค่าธรรมเนียมเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์อยู่ส่วนหนึ่งด้วย ย่อมแสดงว่าสัญญาระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับโจทก์แม้จะมีข้อสัญญาที่มีวัตถุประสงค์หลายอย่าง แต่อย่างน้อยก็มีวัตถุประสงค์ในการให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยคิดผลตอบแทนที่ถือเป็นค่าเช่าด้วย ดังนั้น ไม่ว่าในบรรดาวัตถุประสงค์ของสัญญานี้จะมีบางส่วนเป็นสัญญาสัมปทานดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีส่วนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเช่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินรวมอยู่ด้วย ย่อมถือได้ว่าทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนี้เป็นอาคารและที่ดินที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้เช่าตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 17 ตอนท้าย ซึ่งเป็นบทยกเว้นความตอนต้นของมาตรานี้ จึงมีผลให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในทรัพย์สิน ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ท่าเทียบเรือบี 3 ได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีโรงเรือนตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 33 บัญญัติว่า “การขอยกเว้น ขอให้ปลดภาษีหรือขอให้ลดค่าภาษีตามความในภาค 1 และภาค 2 นั้น ผู้รับประเมินต้องเขียนลงในแบบพิมพ์ที่ยื่นต่อกรมการอำเภอทุก ๆ ปี พร้อมด้วยพยานหลักฐานที่จะสนับสนุน เพื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สามารถสอบสวนให้แน่นอนโดยการไต่สวนหรือวิธีอื่นว่าคำร้องขอนั้นมีมูลดีและจะควรให้ยกเว้นหรือปลดหรือลดภาษีเพียงใดหรือไม่” และมาตรา 34 บัญญัติว่า “ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งยกคำขอยกเว้นหรือคำขอให้ปลดภาษีหรือลดค่าภาษี ก็ให้แจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้รับประเมินและผู้รับประเมินมีสิทธิเช่นเดียวกับเรื่องที่ได้บ่งไว้ในหมวดนี้ที่ว่าด้วยการประเมิน” กรณีของโจทก์เป็นการฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่าท่าเทียบเรือบี 3 เป็นทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการสาธารณะโดยตรงซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษียื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำขอยกเว้นภาษี การท่าเรือแห่งประเทศไทยก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อตามคำฟ้องและทางนำสืบของคู่ความไม่ปรากฏว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้พิจารณายกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับท่าเทียบเรือ บี 3 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงยังมิได้สอบสวนว่าทรัพย์สินที่พิพาทนั้นควรจะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่อง มาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางเพื่อโต้แย้งว่า ทรัพย์สินที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีภาษีพิพาทได้อีกตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 33 และมาตรา 34 ปัญหาดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ค่ารายปีควรเป็นเท่าใด โดยโจทก์บรรยายฟ้องและอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ควรนำสูตรการคิดค่ารายปีตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเสนอและที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมากำหนดเป็นค่ารายปี ทั้งมติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายและการคิดค่ารายปีและค่าภาษีต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ค่ารายปี หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ การคิดค่ารายปีจึงต้องคิดตามจำนวนค่าตอบแทนคงที่ที่โจทก์จ่ายให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ต้องหักค่าตอบแทนจากการที่โจทก์ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือยกขน ค่าขุดลอกถมดิน ค่ายางประกับเขื่อน แล้วเทียบกับอัตราส่วนค่าตอบแทนคงที่ของท่าเทียบเรือบี 3 กับค่าก่อสร้างท่าเทียบเรือบี 3 ไม่ใช่นำค่าตอบแทนคงที่รายปีของท่าเทียบเรือบี 1 ซึ่งเป็นพื้นที่คนละแห่งกับท่าเทียบเรือบี 3 มาเปรียบเทียบ ค่ารายปีที่เหมาะสมของท่าเทียบเรือบี 3 ไม่ควรเกินร้อยละ 30.2549 ของค่าตอบแทนคงที่รายปี 120,000,000 บาท ค่ารายปีจึงไม่ควรเกิน 36,311,280 บาท และค่าภาษีไม่ควรเกิน 4,538,910 บาท การที่จำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินและจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินให้โจทก์ชำระภาษี 13,315,465.55 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ 8,776,555.55 บาท จึงเป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 แจ้งการประเมิน และจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินนั้นมีจำนวนสูงเกินสมควร การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงต้องนำเรื่องที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย ซึ่งปัญหานี้นายสามารถ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ปีภาษี 2546 ถึงปีภาษี 2550 การท่าเรือแห่งประเทศไทยเคยเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ลดหย่อนค่ารายปีตามมาตรา 31 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลดหย่อนค่ารายปีให้ แต่ปีภาษี 2552 ซึ่งเป็นข้อพิพาทในคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาว่าค่ารายปีนั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควรหรือไม่ ดังนั้นเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยยังไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย การท่าเรือแห่งประเทศไทยและโจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาตามอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share