แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความให้ อ. และ ว. ไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่บุคคลทั้งสองกลับสมคบกับโจทก์ไปกรอกข้อความจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์ จำเลยจะต้องรับผลในความเสียงภัยที่ตนก่อขึ้นดังกล่าว และถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน การที่ อ. และ ว. ปลอมหนังสือมอบอำนาจเป็นผลสืบเนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยโดยตรง เมื่อโจทก์มิได้ล่วงรู้ถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ อ. และ ว. ผู้รับมอบอำนาจ ทั้งไม่อาจทราบว่า อ. และ ว. สมคบกันปลอมหนังสือมอบอำนาจ จึงยอมรับจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หากให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างมาก การที่โจทก์จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 114 ไว้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 2,000,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง แล้วจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์ทั้งสองทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 2,3000,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง มิฉะนั้นให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไดม่ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินและไม่ได้รับเงินตามสัญญาจำนองจากโจทก์ทั้งสอง ความจริงจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความจำนวน 2 ฉบับ เพื่อให้นายวีรศักดิ์ กับนายอนุวัตร ไปยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามฟ้องแทนจำเลยเท่านั้น แต่นายวีรศักดิ์และนายอนุวัตรกลับสมคบกับโจทก์ทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปกรอกข้อความเป็นการจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยไว้แก่โจทก์ทั้งสองโดยทุจริต อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยการจำนองจึงไม่มีผลผูกพันจำเลย อีกทั้งจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองดังกล่าว หากโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองจดทะเบียนรับจำนองที่ดินจากจำเลยโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทั้งนี้ โดยนายวีรศักดิ์ ได้รับมอบอำนาจให้จดทะเบียนจำนองและรับเงินแทนจำเลย และก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงจำเลยโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 114 เล่ม 2 หน้า 113 (ที่ถูก 133) หมู่ที่ 4 ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี หากโจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (9 มิถุนายน 2540) ต้องไม่เกิน 300,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากไม่ปฏิบัติตามให้ยึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้ยกฟ้องแย้ง และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
ก่อนยื่นฎีกา จำเลยถึงแก่กรรม นางประทุม ผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทมีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ โจทก์ทั้งสองเบิกความเป็นพยานว่า เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาท โดยนายอนุวัตร ซึ่งเป็นลูกค้าโจทก์และรู้จักกันมานานกับนายวีรศักดิ์ เป็นผู้มาติดต่อขอให้รับจำนองที่ดินพิพาทเนื่องจากจำเลยต้องการเงิน โจทก์ทั้งสองพูดคุยทางโทรศัพท์กับจำเลยแล้ว ยืนยันว่ามอบอำนาจให้นายอนุวัตรและนายวีรศักดิ์ดำเนินการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแทนจริง โจทก์ทั้งสองจึงรับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้ และมอบเงินให้นายวีระศักดิ์นำไปให้จำเลยที่จำเลยอ้างว่า จำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความให้นายอนุวัตรและนายวีรศักดิ์ไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่บุคคลทั้งสองกลับสมคบกับโจทก์ไปกรอกข้อความจดทะเบียนที่ดินพิพาทไว้กับโจทก์ทั้งสอง นั้น เห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพค้าขายที่ดินย่อมมีความเชี่ยวชาญและรู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสียหาย จึงย่อมต้องมีความระมัดระวัง หากเกิดความเสียหายในภายหลัง จำเลยจะต้องรับผลในความเสี่ยงภัยที่ตนก่อขึ้นดังกล่าว และถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน แม้ความจะปรากฎว่า นายอนุวัตรและนายวีรศักดิ์จะปลอมหนังสือมอบอำนาจตามที่จำเลยกล่าวอ้างดังกล่าวก็เป็นผลสืบเนื่องจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยโดยตรง เมื่อโจทก์มิได้ล่วงรู้ถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยกับนายอนุวัตรและนายวีรศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจ ทั้งไม่อาจทราบว่านายอนุวัตรและนายวีรศักดิ์สมคบกันปลอมหนังสือมอบอำนาจดังที่จำเลยอ้างจึงยอมรับจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน หากให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทตามฟ้องย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองอย่างมาก ดังนั้นที่ศาลอทุธรณ์ภาค 2 เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยชอบแล้วและพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 40,000 บาท แทนโจทก์