แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านและรั้วเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่กันและกันนั้นคือ ผู้บริโภคทั้งสี่รายต้องชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดจนชำระเงินงวดสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเมื่อจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านและรั้วเสร็จสิ้น ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วไปด้วย แม้ตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการพัฒนาที่ดินหรือสิ้นสุดของการก่อสร้างบ้านและรั้วของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสี่ราย แต่ก็ย่อมอนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่านับแต่ทำสัญญาในปี 2538 จนถึงปี 2547 ที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาถึง 9 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วจนแล้วเสร็จให้อยู่ในสภาพพร้อมโอนให้ผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งในเวลาเดียวกันผู้บริโภคทั้งสี่รายกลับผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินพอสมควรดังกล่าวข้างต้น อันถือได้ว่าผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ไปบ้างแล้ว ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาได้ปฏิบัติการชำระหนี้เป็นการตอบแทนแต่อย่างใดไม่ เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสี่รายซึ่งเป็นเสมือนเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือและใบตอบรับก็เพื่อบอกเลิกสัญญา หาใช่หนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ ดังนั้นจึงไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลา 15 วันว่าเป็นเวลาพอสมควรหรือไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องชดใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสี่รายตามฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า การดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และได้แจ้งคำสั่งไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว จึงมีผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้เองโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หาใช่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นทนายแผ่นดินไม่ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความเช่นคดีอื่นๆ เมื่อพนักงานอัยการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ จึงไม่ชอบที่ศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแก่ฝ่ายที่ชนะคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคและการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามแทนพวกผู้บริโภคจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์จึงมีมติมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยทั้งสามแทนพวกผู้บริโภค เพื่อบังคับให้จำเลยทั้งสามคืนเงินทั้งหมดที่ได้รับจากผู้บริโภครายอื่นๆ ที่ร้องเรียนไว้แล้ว และที่จะมาร้องเรียนจำเลยทั้งสามต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในลักษณะเรื่องทำนองเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ต่อมานางพัชรินทร์หรือกุลชไม นางธิดา นายสินธู และนายถวัลย์ ผู้บริโภคได้ร้องเรียนขอให้โจทก์ดำเนินการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามคืนเงินแก่ผู้บริโภคที่จ่ายให้แก่จำเลยทั้งสามตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสามขอให้ปฏิบัติตามสัญญาโดยให้จำเลยทั้งสามดำเนินการก่อสร้างบ้าน รั้ว และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้บริโภคในคดีนี้พร้อมทั้งก่อสร้างสาธารณูปโภค รวมทั้งบริการสาธารณะต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามที่โฆษณาภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดจะถือว่าจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญากับผู้บริโภค และขอถือหนังสือฉบับนี้เป็นการแสดงเจตนาในการบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งขอให้จำเลยทั้งสามคืนเงินทั้งหมดที่ได้รับไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสือแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ยอมรับ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามมิได้ปฏิบัติตามสัญญาภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว ถือว่าจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อผู้บริโภคและผู้บริโภคได้บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่นางพัชรินทร์หรือกุลชไมเป็นเงิน 3,260,734.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องของต้นเงิน 2,132,440 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่นางธิดาเป็นเงิน 1,822,602.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องของต้นเงิน 1,200,000 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่นายสินธูเป็นเงิน 450,080.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องของต้นเงิน 301,140 บาท เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่นายถวัลย์เป็นเงิน 837,766.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องของต้นเงิน 541,260 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่นายสันติเป็นเงิน 341,315.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องของต้นเงิน 227,440 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ผิดสัญญาต่อผู้บริโภคตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยทั้งสามไม่จำต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่ผู้บริโภค ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่นางพัชรินทร์หรือกุลชไม จำนวน 3,260,734.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,132,440 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่นางธิดา จำนวน 1,822,602.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่นายสินธู จำนวน 450,080.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 301,140 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่นายถวัลย์ จำนวน 837,766.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 541,260 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่นายสินธู จำนวน 341,315.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 227,440 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายถวัลย์ ผู้บริโภคลำดับที่ 4 และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 25 มกราคม 2550
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 541,260 บาท แก่นายถวัลย์ พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 196,744.30 บาท รวมจำนวน 738,004.30 บาท รายละเอียดปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 25 มกราคม 2550 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้แก่นางพัชรินทร์หรือกุลชไม นางธิดา และนายสินธู ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าทนายความแทนโจทก์รวมสองศาลจำนวน 40,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในส่วนที่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้นายถวัลย์ ให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 นอกนั้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ขอถอนฎีกา จำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกาได้
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นายสุวิทย์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามสำเนาคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 368/2540 เอกสารหมาย จ.51 ดังนั้นที่นายสุวิทย์ลงนามแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล ตามสำเนาคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 1/2541 เอกสารหมาย จ.39 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค วันที่ 11 เมษายน 2546 ซึ่งมีนายกร รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นประธานกรรมการ และมีมติให้ดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยทั้งสามเพื่อบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสี่รายรวมถึงผู้บริโภครายอื่นๆ ที่ร้องเรียนไว้ตามสำเนารายงานการประชุม ครั้งที่ 2/2546 เอกสารหมาย จ.45 นั้น ก็ปรากฏว่านายกรได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามสำเนาคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 41/2546 เอกสารหมาย จ.52 แล้ว มติดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 2/2546 จึงเป็นมติที่ชอบ เมื่อการแต่งตั้งพนักงานอัยการได้รับความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด และได้แจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบถึงการแต่งตั้งพนักงานอัยการทำหน้าที่ดำเนินคดีในศาลอันเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่งแล้วนั้น พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตลอดไป โดยมิจำต้องมีมติแต่งตั้งเป็นรายกรณีไป เมื่อได้ความว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (7) ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อผู้บริโภคทั้งสี่รายตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงคงฟังเป็นยุติเบื้องต้นตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ติดใจสืบว่า นางพัชรินทร์หรือกุลชไม ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลยที่ 1 และชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วเป็นเงิน 2,132,440 บาท ตามสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.4 นางธิดา ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลยที่ 1 และชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วเป็นเงิน 1,200,000 บาท ตามสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.12 นายสินธุ ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลยที่ 1 และชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วเป็นเงิน 301,140 บาท ตามสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.19 และทำสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านและรั้วกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 แล้วทั้งหมดเป็นเงิน 227,440 บาท ตามสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.25 นายถวัลย์ ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลยที่ 1 และชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วเป็นเงิน 541,260 บาท ตามสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.34 นางพัชรินทร์หรือกุลชไม นางธิดา นายสินธู และนายถวัลย์ จึงเป็นผู้บริโภคตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 และฟังได้ว่าจนถึงปัจจุบันจำเลยทั้งสามยังไม่ได้พัฒนาที่ดิน ไม่ได้ก่อสร้างบ้านและรั้วให้ผู้บริโภคทั้งสี่รายแต่อย่างใด เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านและรั้วตามสำเนาเอกสารหมาย จ.4, จ.12, จ.19, จ.25 และ จ.34 เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่กันและกันนั่นคือ ผู้บริโภคทั้งสี่รายต้องชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดจนชำระเงินงวดสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเมื่อจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านและรั้วเสร็จสิ้น ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วไปด้วย แม้ตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการพัฒนาที่ดินหรือสิ้นสุดของการก่อสร้างบ้านและรั้วของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสี่ราย แต่ก็ย่อมอนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่า นับแต่ทำสัญญาในปี 2538 จนถึงปี 2547 ที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาถึง 9 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วจนแล้วเสร็จให้อยู่ในสภาพพร้อมโอนให้ผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งในเวลาเดียวกันผู้บริโภคทั้งสี่รายกลับผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินพอสมควรดังกล่าวมาข้างต้น อันถือได้ว่าผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ไปบ้างแล้ว ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาได้ปฏิบัติการชำระหนี้เป็นการตอบแทนแต่อย่างใดไม่ เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสี่รายซึ่งเป็นเสมือนเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.47 ถึง จ.49 นั้น ก็เพื่อบอกเลิกสัญญา หาใช่หนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ ดังนั้น จึงไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลา 15 วัน ว่าเป็นเวลาพอสมควรหรือไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องชดใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสี่รายตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดค่าทนายความเป็นเงินน 50,000 บาท (ที่ถูก เป็นเงิน 40,000 บาท) หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า โจทก์ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง จำเลยทั้งสองจึงควรได้รับการยกเว้นด้วยนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า การดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง และข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และได้แจ้งคำสั่งไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว จึงมีผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้เองโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หาใช่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นทนายแผ่นดินในคดีนี้ไม่ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความเช่นคดีอื่นๆ เมื่อพนักงานอัยการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ จึงไม่ชอบที่ศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแก่ฝ่ายที่ชนะคดี คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์