แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินของโจทก์ ที่ดินของ ก.และที่ดินของจำเลยไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ ช.มารดาของโจทก์ ก.จำเลย และ ฉ.จึงได้ตกลงทำทางพิพาทเพื่อให้ครอบครัวของ ช.จำเลย และ ก.ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนร่วมกัน โดย ช.เป็นผู้ออกเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินให้แก่ ฉ. การที่ ช.ได้จ่ายเงินให้แก่ ฉ.เช่นนี้ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้ทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยด้วย เพราะหากจำเลยไม่ยินยอมให้ทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่ ช.จะยินยอมจ่ายค่าตอบแทนการผ่านที่ดินให้แก่ ฉ.เนื่องจากข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยเท่านั้น จำเลยได้ตกลงยินยอมให้ ช.มารดาของโจทก์ทำและใช้ทางพิพาทในส่วนที่ผ่านที่ดินของจำเลย สิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยตามข้อตกลงดังกล่าว แม้จะไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์ แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิเฉพาะตัวของ ช.โดยแท้ เมื่อ ช.ถึงแก่กรรมสิทธินี้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของ ช.ย่อมอาศัยข้อตกลงดังกล่าวฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกในฐานะที่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ และจำเลยจะต้องจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยมีสิทธิปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยหรือไม่ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ตามข้อตกลงระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกินไปกว่าคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่๒๖๒๐ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๓๐ ตารางวา โดยได้รับมรดกมาจากนางชม้อย ซื่อดี มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมในปี ๒๕๓๘ เมื่อปี ๒๕๒๘ ทางราชการสร้างถนนสายแหลมทองพัฒนาสำหรับใช้เป็นทางรถยนต์นางชม้อย นางกัลยา สิริไพโรจน์ และจำเลยไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะดังกล่าว จึงทำนิติกรรมกับนางฉลวย เจริญสุขใส ซึ่งมีที่ดินติดถนนสาธารณะดังกล่าวเป็นทางรถยนต์เข้าออกกว้างประมาณ ๖ เมตรจากถนนสาธารณะผ่านที่ดินของนางฉลวย จำเลย นางกัลยา จดที่ดินของโจทก์ โดยนางชม้อยต้องเสียค่าตอบแทนเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท ให้แก่นางฉลวย นิติกรรมดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นทางภาระจำยอมโดยอาศัยสิทธิมารดาโจทก์ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๙ จำเลยปิดทางภาระจำยอมในส่วนที่ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๘๑ ของจำเลยโดยปลูกต้นไม้ ทำให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์แล่นเข้าออกได้ตามปกติ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยเปิดทางภาระจำยอมและไปจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ประกอบอาชีพทำสวนกล้วยไม้ต้องใช้ทางพิพาทเพื่อนำดอกกล้วยไม้ไปขายที่ตลาด โจทก์เสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้ทางพิพาทวันละ ๑,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๘๑ มีความกว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๕๐ เมตร หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ ๑,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมเสร็จสิ้น
หลังจากโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในเหตุฉุกเฉินให้จำเลยเปิดทางพิพาท ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้จำเลยเปิดทางพิพาทตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำนิติกรรมเรื่องทางภาระจำยอมกับโจทก์ โจทก์ถือวิสาสะเดินผ่านที่ดินของจำเลย และเมื่อต้นปี ๒๕๓๙โจทก์ใช้รถยนต์แล่นผ่านทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยจึงห้ามปรามไม่ให้โจทก์ใช้รถยนต์ผ่าน ทางพิพาทเป็นเพียงร่องสวนไม่ใช่ถนน นางชม้อย นางกัลยาและจำเลยมีทางออกสู่ทางสาธารณะด้านริมแม่น้ำท่าจีน โจทก์ใช้ทางพิพาทไม่ถึง๑๐ ปี ยังไม่ได้ภาระจำยอมตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับว่า ให้จำเลยเปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๕๐ เมตรเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ตามข้อตกลงระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๒๐ โดยรับมรดกมาจากนางชม้อยซื่อดี มารดาของโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๘๑ ที่ดินของโจทก์อยู่ด้านใน ถัดไปทางด้านทิศใต้เป็นที่ดินของนางกัลยา ที่ดินของจำเลย และที่ดินของนางฉลวยตามลำดับ โดยที่ดินของนางฉลวยอยู่ติดกับถนนแหลมทองพัฒนาซึ่งเป็นทางสาธารณะ ทางพิพาทตั้งต้นจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินของนางกัลยา ที่ดินของจำเลยและที่ดินของนางฉลวย แล้วออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนา มีความกว้างตลอดแนวประมาณ๔ เมตร รถยนต์แล่นเข้าออกได้ เฉพาะช่วงที่ผ่านที่ดินของจำเลยมีความยาวประมาณ๕๐ เมตร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยได้ตกลงยินยอมให้นางชม้อย ซื่อดี มารดาของโจทก์ทำทางพิพาทในที่ดินของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย น่าเชื่อว่าเนื่องจากที่ดินของโจทก์ ที่ดินของนางกัลยา และที่ดินของจำเลยไม่มีทางออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาซึ่งเป็นถนนสาธารณะ นางชม้อยมารดาของโจทก์ นางกัลยา จำเลยและนางฉลวยจึงได้ตกลงทำทางพิพาทเพื่อให้ครอบครัวของนางชม้อย จำเลย และนางกัลยาใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาร่วมกัน โดยนางชม้อยเป็นผู้ออกเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินให้แก่นางฉลวยเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท และการที่นางชม้อยได้จ่ายเงินให้แก่นางฉลวยเช่นนี้ ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้ทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยด้วย เพราะหากจำเลยไม่ยินยอมให้ทำทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่นางชม้อยจะยินยอมจ่ายค่าตอบแทนการผ่านที่ดินให้แก่นางฉลวยเนื่องจากข้อตกลงในหนังสือเอกสารหมาย จ.๓ จะเป็นประโยชน์แก่จำเลยเท่านั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ตกลงยินยอมให้นางชม้อยมารดาของโจทก์ทำและใช้ทางพิพาทในส่วนที่ผ่านที่ดินของจำเลยจริง สิทธิที่จะใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยตามข้อตกลงดังกล่าวแม้จะไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์ แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิเฉพาะตัวของนางชม้อยโดยแท้ เมื่อนางชม้อยถึงแก่กรรมสิทธินี้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของนางชม้อยย่อมอาศัยข้อตกลงดังกล่าวฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ที่พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ตามข้อตกลงระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลย นั้นเกินไปกว่าคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องโดยอ้างหลักซึ่งเป็นสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่า เนื่องจากที่ดินของโจทก์ จำเลย และนางกัลยา ไม่มีทางออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาซึ่งเป็นทางสาธารณะในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ นางชม้อยมารดาของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินของโจทก์ในขณะนั้น นางกัลยา จำเลย และนางฉลวยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่อยู่ติดกับถนนแหลมทองพัฒนาได้ตกลงทำทางเพื่อใช้ออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาร่วมกัน โดยนางชม้อยเป็นผู้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่นางฉลวยเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท ส่วนนางกัลยาและจำเลยได้สละที่ดินทำทางจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่นางฉลวย โจทก์ใช้ทางดังกล่าวซึ่งเป็นทางภาระจำยอมออกสู่ถนนแหลมทองพัฒนาตลอดมาโดยอาศัยสิทธิของนางชม้อยซึ่งเป็นมารดา ต่อมาเมื่อวันที่๑๔ กันยายน ๒๕๓๙ จำเลยปิดทางภาระจำยอมโดยปลูกต้นไม้ในทางภาระจำยอมจนไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้ ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๘๑ เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๒๐ ของโจทก์ เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำนิติกรรมเรื่องทางภาระจำยอมกับโจทก์ โจทก์ถือวิสาสะเดินผ่านที่ดินของจำเลยยังไม่ถึง ๑๐ ปี ทางพิพาทเป็นเพียงร่องสวนไม่ใช่ถนน ตามสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์กับคำให้การของจำเลยดังกล่าว คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกในฐานะที่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ และจำเลยจะต้องจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือจำเลยมีสิทธิปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยหรือไม่ นั่นเอง ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ที่พิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเพื่อเป็นทางเข้าออกของโจทก์ตามข้อตกลงระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกินไปกว่าคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์
พิพากษายืน.