คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจให้จำเลยต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ได้ยักยอกไปแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่เมื่อได้ความว่าการที่จำเลยต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปให้แก่โจทก์ร่วมคดีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่ผู้ค้ำประกันจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระให้แก่โจทก์ร่วมในคดีแพ่งดังกล่าวแล้ว โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิที่จะขอบังคับเอาได้ทั้งสองทาง ความรับผิดของจำเลยในส่วนนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาใน ชั้นบังคับคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 352, 91 ให้จำเลยใช้เงินและคืนหรือใช้ราคาทรัพย์รวม 63,890 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2995/2539 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทไดสตาร์เชน จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 (ที่ถูกมาตรา 352 วรรคแรก), 91 เห็นว่า จำเลยได้ชดใช้เงินให้โจทก์ร่วมบางส่วนเป็นเงิน 21,000 บาท คงเหลือเงินที่จะต้องชำระหนี้อยู่เพียง 42,890 บาท การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เห็นสมควรลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือ 42,890 บาท ส่วนคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2995/2539 หมายเลขแดงที่ 2289/2541 ของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงนับโทษต่อไม่ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์และแก้ไขอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 356 ซึ่งจากข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่า จำเลยได้พยายามหาเงินมาชำระให้โจทก์ร่วมบางส่วนแล้วเป็นเงิน 21,000 บาท ทั้งปรากฏเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยคดีนี้ว่า โจทก์ร่วมได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ค้ำประกันจำเลยในการที่จำเลยเข้าทำงานกับโจทก์ร่วมและได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยผู้ค้ำประกันจำเลยยอมชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นที่พอใจแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1015/2540 ของศาลจังหวัดมหาสารคาม ทั้งโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยก็เป็นโทษจำคุกระยะสั้น ประกอบกับจำเลยไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสแก่จำเลยเพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดีของชาติสืบไป ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยได้หลาบจำในการกระทำผิดครั้งนี้ จึงให้ลงโทษปรับและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ในส่วนที่โจทก์ร่วมยังไม่ได้รับคืนเป็นเงิน 42,890 บาท ทั้งที่โจทก์ร่วมได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ค้ำประกันจำเลยและได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยผู้ค้ำประกันจำเลยยอมชำระให้แก่โจทก์ร่วมแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1015/2540 ของศาลจังหวัดมหาสารคาม อันทำให้โจทก์ร่วมได้รับชำระหนี้ทั้งสองทางคือจากจำเลยและจากผู้ค้ำประกันจำเลยเป็นการเอาเปรียบจำเลย เป็นการไม่ชอบ จึงขอให้จำเลยไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ส่วนที่เหลือ 42,890 บาทนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมฟ้องผู้ค้ำประกันจำเลยเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมรวมอยู่ด้วย เป็นการที่โจทก์ร่วมใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ค้ำประกันจำเลยในฐานะเป็นคู่สัญญากันอันเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ที่ผู้ค้ำประกันจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมในทางแพ่ง ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยในทางอาญา ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจให้จำเลยต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ได้ยักยอกไปแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าการที่จำเลยต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปให้แก่โจทก์ร่วมคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่ผู้ค้ำประกันจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระให้แก่โจทก์ร่วมในคดีแพ่งดังกล่าวแล้ว ก็มิใช่กรณีที่โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิที่จะขอบังคับเอาได้ทั้งสองทางดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยในส่วนนี้ว่า เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง กระทงละ 1,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นเงิน 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 1,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ทั้งนี้ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือน ต่อ 1 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี โดยให้พนักงานคุมประพฤติจัดให้จำเลยทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรร่วมกัน รวม 20 ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share